วันนี้เป็น วันฉัตรมงคล เนื่องจากเกิดสถานการณ์ระบาดโควิด-19 สำนักพระราชวัง จึงไม่มีการจัดพระราชพิธีหรือกิจกรรมใดๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง
วันนี้เป็นวันที่สองที่ ศบค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย ปลดล็อก 8 ธุรกิจให้เปิดบริการได้ หลังจากที่ผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง วันเสาร์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยใหม่ 6 ราย ต่ำสิบเป็นวันที่ 6 ขณะที่ สถานการณ์ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3.40 ล้านคน สหรัฐฯ 1.13 ล้านคน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ได้ยกตัวอย่าง ฮอกไกโด ญี่ปุ่น ที่ต้องประกาศ ปิดเมืองเป็นครั้งที่สอง หลังเจอการระบาดใหม่รอบที่สอง ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม ฮอกไกโดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือเพียงหลักหน่วย และประกาศคลายล็อก ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เขาคลายล็อกเร็วเกินไปหรือไม่ กรณีของฮอกไกโดคล้ายคลึงกับไทย เมื่อมีผู้ป่วยน้อยก็เริ่มผ่อนคลาย แต่ที่ผมเห็นว่าน่าเป็นห่วงก็คือ ประชาชนเริ่มออกเดินทางกันมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนกว่าวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถนนมิตรภาพ ที่มุ่งหน้าสู่อีสาน รถติดน้องๆช่วงเทศกาลสงกรานต์เลยทีเดียว
ยังไม่รู้ช่วงวันหยุดยาว 4-6 วันนี้ คนกรุงจะนำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่ระบาดที่ต่างจังหวัด หรือ จะไปรับเชื้อจากต่างจังหวัดเข้ามาแพร่เชื้อระลอกสองในกรุงเทพฯ ก็ต้องรอดูกันต่อไป อีก 14 วันนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ลงไปในเฟซบุ๊กส่วนตัววันที่ 2 พฤษภาคมว่า “เรามาถึงวันนี้ได้โดยใช้เวลา 6 สัปดาห์ ด้วยความอดทน อดกลั้น อดออม ดึงกราฟการระบาดจาก 33% ลงมาถึง 6% ในวันพรุ่งนี้ (3 พ.ค.2563) และจะแตะ 5% ในวันที่ 12 พ.ค. 2563 จริงๆแล้ว ได้พยายามฉุดรั้งให้รัฐผ่อนปรนมาตรการตอนกลางเดือนพฤษภาคม เพราะคาดว่าเวลานั้น เคสที่รักษาในโรงพยาบาลจะเหลือน้อยกว่า 100 ราย บุคลากรทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุข จะได้ใช้เวลาในการเตรียมรับมือระลอกสองตอนปลดล็อกกลางเดือน และจะปรากฏเคสระบาดระลอกสองตอนปลายเดือน ซึ่งจะมีเตียงรับผู้ป่วยหนักได้ 250 เตียง สำหรับคนติดเชื้อใหม่ราว 5,000–7,500 คน แต่พอจะเข้าใจได้ว่า แรงกดดันมีมากมายเหลือคณานับ รัฐได้ตัดสินใจปลดล็อกตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.”
...
เมื่อปลดล็อกแล้วการควบคุมสถานการณ์ก็ยากขึ้น
ก็เหมือน ญี่ปุ่น อย่างที่ คุณหมอทวีศิลป์ ยกตัวอย่าง ตัวเลขผู้ติดเชื้อวันเสาร์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นกว่า 14,300 คนแล้ว แม้รัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ก็เอาไม่อยู่ โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์นี้เป็น โกลเดนวีก ของญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ผลิ ดอกไม้ทุกสวนบานสะพรั่งสวยงาม แม้ว่า เทศกาลดอกกุหลาบ และ เทศกาลดอกทิวลิป ในช่วงนี้จะถูกยกเลิกการจัดงานไปแล้ว แต่ชาวญี่ปุ่นก็แห่ไปชมความงามของดอกไม้ในทุกสวนทั่วประเทศไม่ขาดสาย เพื่อชื่นชมความงดงามของดอกไม้โดยไม่กลัวโควิด-19
ในที่สุดปลายเดือนเมษายน สวนดอกไม้ทุกสวนในญี่ปุ่น ก็ตัดสินใจตัดดอกไม้ที่บานสะพรั่งสวยงามทิ้งทุกสวน เพื่อหยุดยั้งไม่ให้คนไปชมดอกไม้ ไล่ตั้งแต่ สวนดอก Wisteria สีม่วงอันสวยงาม ที่ เมืองคุโรกิ จ.ฟูกูโอกะ ถูกตัดทิ้งหมด สวนดอกกุหลายหลากสีกว่า 180 สายพันธุ์ จ.ไซตามะ ที่กำลังเบ่งบานก็ถูกตัดทิ้งหมด ดอกทิวลิปหลากสีกว่า 8 แสนดอก ที่ สวนซากุระ จ.ชิบะ ที่คนไทยรู้จักดีมีกังหันลมแบบฮอลแลนด์เป็นฉาก ก็ถูกตัดทิ้งหมด เพื่อตัดปัญหานักท่องเที่ยวที่แห่ไปชมไม่ขาดสาย เมื่อไม่มีดอกไม้ ก็ไม่มีคนไปชื่นชม ก็ไม่มีการแพร่เชื้อ
การแก้ปัญหาจึงต้อง เด็ดขาดแบบจีน ถ้าอ่อนแบบญี่ปุ่นการระบาดรอบสองมาแน่ จะสร้างความเสียหายอีกเท่าไหร่ ต่อให้เงินกู้อีก 1.9 ล้านล้านบาท ก็เอาไม่อยู่แน่นอน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”