ใครที่หวังว่าการเมืองต้องนิ่ง โดยเฉพาะในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติอาจต้องหมดหวัง เพราะการเมืองไม่มีวันหยุดนิ่ง ยิ่งในภาวะวิกฤติยิ่งต้องเถียงกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เปิดเผยว่าได้ส่งคำร้องถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐ
เนื่องจากอาจมีการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง กรณีที่นายทหารยศพลเอกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีข่าวว่าอยู่เบื้องหลังการเดินเกมให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พปชร. เข้าข่ายฝ่าฝืน รัฐธรรมนูญ ม. 113 และ 114 และกฎหมายพรรคการเมืองหลายมาตรา
รัฐธรรมนูญ ม.113 ห้าม ส.ว.ไม่ให้ฝักใฝ่ หรือยอมตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ ม.114 ระบุว่า ส.ว.ต้องไม่ อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือครอบงำใดๆ ส่วนกฎหมายพรรคการเมือง ที่อ้างถึง บางมาตรามีโทษจำคุก เช่น ม.29 ห้ามผู้ที่มิใช่สมาชิกพรรคเข้าควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำพรรค
กฎหมายพรรคการเมืองระบุว่า ผู้ที่ฝ่าฝืน ม.29 ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ร้องยังอ้างถึง ม.28 ที่ห้ามพรรคการเมืองไม่ให้ยินยอมให้ “คนนอก” ที่มิใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรค พรรคที่ฝ่าฝืนมีโทษถึงถูกยุบพรรค
เรื่องราวจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และจบลงอย่างไร เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น กกต. กรณีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากข่าวโด่งดังการก่อหวอดช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการ พรรค รวมทั้งการเปลี่ยนรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง ที่นายกรัฐมนตรีตัดบทว่า ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคนเดียว
...
หวังว่าผู้ร้องเรียนจะได้ติดตามเรื่องราวต่อไปจนถึงที่สุด เนื่องจากการเมืองไทยมีการร้องเรียน และกล่าวหากันมาก แต่ส่วนใหญ่เรื่องมักจะเงียบหายไป หลังจากเวลาล่วงเลยไประยะหนึ่ง โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจหรือพวกพ้องของฝ่ายที่มีอำนาจ เช่น การกล่าวหา ส.ส.เสียบบัตรแทนกันซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง
รวมทั้งการร้องเรียนกล่าวหา เรื่องนักการเมืองหลายสิบคนมีหุ้นในกิจการสื่อ การร้องเรียนกล่าวหาพรรค การเมืองเลี้ยง ส.ส.งูเห่า ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ทั้งทางการเมืองและอาญา การกล่าวหาพรรคการเมืองหลายสิบพรรค กระทำการ “กู้เงิน” เหมือนกับพรรคอนาคตใหม่ เรื่องมักจะเงียบหายไป ไม่ทราบเพราะเหตุใด.