แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยมาก่อน จู่ๆ ก็มีข่าวการเมืองระดับดังระเบิด จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปลี่ยนหัวหน้าพรรคจากนายอุตตม สาวนายน เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปลี่ยนเลขาธิการจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นนายสันติ พร้อมพัฒน์ ทั้งนายอุตตมกับนายสนธิรัตน์ จะต้องพ้นจากรัฐมนตรี

ไม่มีไฟย่อมไม่มีควัน ข่าวนี้ไม่ใช่การปล่อยข่าวเฟกนิวส์ แต่มีควันตลบอบอวลที่ส่อแสดงว่าต้องมีไฟแน่ คำกล่าว ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อหน้ารัฐมนตรีหลายคน ที่ว่า “ผมคนเดียวเท่านั้นที่จะตัดสินใจได้ ไม่ต้อง ต่อรอง ไม่ต้องเจรจา ผมเป็นนายกฯ ผมทำ คนเดียว” หมายถึงอะไร? ถ้าไม่หมายถึง ข่าวใหญ่ในพรรคแกนนำรัฐบาล

รายงานข่าวระบุว่า จะบีบให้นายอุตตมะให้ลาออกจากหัวหน้าพรรค หากไม่สำเร็จจะให้กรรมการบริหารพรรคลาออกอย่างน้อย 18 คน เพื่อนำไปสู่การเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี และประธาน ส.ส. พปชร. พูดถึงกระแสข่าว แสดงว่า ส.ส.บางส่วนไม่พอใจคณะผู้บริหารพรรค จึงต้องการเปลี่ยนใหม่

เกิดปรากฏการณ์ “ไลน์หลุด” จากกลุ่ม ส.ส.ที่ไม่พอใจคณะผู้บริหารพรรคอ้างว่า “ไม่ดูแล ส.ส.” ข้ออ้างนี้อาจตีความได้กว้างขวาง “ไม่ดูแลอะไร” อาจหมายถึงไม่สนับสนุน ส.ส.ในการดูแลประชาชนในเขตเลือกตั้ง หรืออาจหมายถึง ไม่ดูแลให้อิ่มหมีพีมันไม่ป้อนข้าวป้อนกล้วย อย่างเต็มที่ หรือไม่สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งการเมือง เช่น รัฐมนตรี

พรรค พปชร.ชอบสอนพรรคฝ่ายค้าน “อย่างเล่นการเมือง” ขณะที่บ้านเมือง ต้องเผชิญกับวิกฤติรอบด้านมาเป็นกองเชียร์สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นพระเอก สู้กับโควิดดีกว่า แต่การเมืองก็คือการเมือง การเมืองคือการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ นักการเมือง พปชร. เป็นปุถุชนคนธรรมดา ไม่ได้บรรลุโสดาบันมาจากไหน การชิงอำนาจ เป็นเรื่องปกติ

...

ต้องต่อสู้กับต่างพรรค เพื่อให้ได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล แม้จะไม่ชนะ เลือกตั้งแต่ก็ยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากมีรัฐธรรมนูญ “ที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” เป็นประเพณีของคณะรัฐประหาร ที่สืบทอดต่อๆกันมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติสังคม หรือพรรคสหประชาไทย หรือพรรคสามัคคีธรรมจนถึงพลังประชารัฐ

มีอยู่บ่อยครั้งที่การต่อสู้ทางการเมือง หลังจากที่ชนะพรรคคู่แข่งและได้อำนาจแล้ว อาจมีการต่อสู้ช่วงชิงกันเองภายในพรรค โดยเฉพาะพรรคของคณะรัฐประหาร ซึ่งประกอบด้วย นักการเมืองหลายกลุ่ม อย่าง พปชร. มีอย่างน้อย 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่ม คสช. กลุ่มสามมิตร และกลุ่มภาคกลาง นักการเมืองเมื่อเป็น ส.ส. แล้วเป้าหมายต่อไปคือรัฐมนตรี.