รัฐบาลอาจยุบสภาฯ
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ประเมินตามทฤษฎีหนึ่งทางการเมือง แม้ไม่แน่ใจถึงท่าทีพรรคพลังประชารัฐจะเอาอย่างไรต่อ แต่ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้รวบอำนาจกลับสู่คอมฟอร์ทโซนเหมือนสมัยเป็นนายกฯ ยุค คสช. ฉายเดี่ยวคนเดียว
จนเรียกคะแนนนิยมกลับมาได้ในระดับหนึ่ง
สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอในพรรคร่วมรัฐบาล หากกลับไปสู่การ บริหารประเทศตามปกติ จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร ย่อมเกิดปัญหาใหม่อีกครั้ง คะแนนนิยมค่อยๆหายไปอีก กลับไปสู่สภาพเดิมเหมือนการเมืองปี 62 คะแนนนิยมรัฐบาลหดหายไปเรื่อยๆ
การบริหารรัฐบาลผสมเมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบรวมศูนย์อำนาจ เป็นช่วงที่ทำคะแนนให้เขาล้วน พรรคร่วมรัฐบาลอื่น ไม่ได้เลย
พรรคพลังประชารัฐพร้อมสุด พรรคร่วมอีก 2 พรรคดูไม่ดี พรรคเพื่อไทยไม่ชัด พรรคก้าวไกลไม่เข้มแข็ง
พรรคกล้าอยู่ในช่วงตั้งไข่ อีก 1 เดือนหวังว่า กกต.คงอนุมัติให้เป็นพรรคการเมือง เราเตรียมตั้งสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา ตามกฎหมาย พร้อมเปิดรับสมาชิกทุกเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 100 คนต่อเขตถึงส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ พยายามทำให้เสร็จภายใน 4-5 เดือน
เป็นจังหวะที่ดีออกมาตั้งพรรคกล้า เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกว่า พรรคการเมืองที่มีอยู่ยังเป็นตัวเลือกที่ไม่ใช่
ในระหว่างที่รอรับรองความเป็นพรรคการเมือง ก็มุ่งหน้าทำงานทุกรูปแบบ โดยระดมสมองช่วยหาแนวทางบรรเทาปัญหาโควิด ทั้งด้านสาธารณสุขและเทคนิคทางการคลัง
จัดตั้งทีมกล้าอาสา เพื่อช่วยบรรเทาภาระและทำความเข้าใจกับปัญหาของประชาชน ประเดิมภารกิจแรกลุยระดมทุนและอุปกรณ์ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดูแลปัญหาไฟป่าภาคเหนือ ถัดไปลงพื้นที่ภาคอีสานดูภัยแล้ง และประเมินสถานการณ์ของประชาชนหลังได้รับผลกระทบจากโควิด
...
ถึงกับเอ่ยปากชมสาธารณสุขและท้องถิ่นมีระบบที่ดี ทำงานด้วยความกลมเกลียว ดูแลชาวบ้าน ทั่วถึง สะท้อนให้เห็นว่าการปกครองแบบกระจายอำนาจ ดูแลประชาชนได้อย่างเข้มแข็งและทั่วถึง
โดยก่อนตั้งพรรคการเมืองได้ฝังตัวอยู่กับเกษตรกรพบว่า โอกาส ความรู้และการเข้าถึงตลาดสำคัญที่สุด
โอกาสเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรต้องช่วยให้มีตลาดขายผลผลิตโดยตรง กำไรจึงตกถึงมือเกษตรกร พูดง่ายแต่ท้าทายต้องทำให้ได้ เป็นการเตรียมพร้อมทำงานการเมืองเต็มรูปแบบในฐานะแม่ทัพใหญ่พรรคกล้า
ในฐานะอดีต รมว.คลังยังสะท้อนให้เห็นปัญหาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องใหญ่มากและหนักสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในชีวิตการทำงาน เฉพาะผลประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อกว่าที่ไอเอ็มเอฟคาด อาจส่งผลให้จีดีพีของไทยติดลบมากกว่าเดิม
เราแย่กว่าประเทศอื่น เพราะเศรษฐกิจไทยเปราะบางก่อนเกิดโควิด อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตช้ากว่าในอาเซียน
หากดูโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพบว่าอ่อนไหวต่อวิกฤตินี้มากกว่า ประเทศอื่น เพราะพึ่งพาสถานะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าค่อนข้างมาก ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว
เมื่อย้อนกลับไปดูวิกฤติต้มยำกุ้งไม่กระทบต่อประเทศโซนตะวันตก วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ไม่ค่อยกระทบประเทศโซนเอเชีย แต่วิกฤติโควิดส่งผลกระทบทุกประเทศ ทำให้เราขาดที่พึ่ง
วิกฤติต้มยำกุ้งกระทบผู้ประกอบการในเมืองเกิดการว่างงาน ย้ายกลับภูมิลำเนาชนบท ไม่มีผลทางลบต่อชีวิตชาวบ้าน ชนบทมีการเกษตรรองรับ และซับแรงงาน ที่ย้ายออกจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผ่อนหนัก เป็นเบาได้ในช่วงนั้น
คราวนี้แรงงานย้ายกลับภูมิลำเนา ไม่มีอะไรทำ การว่าจ้างรายวันแทบไม่เกิดขึ้น การเกษตรไปไม่ได้ เพราะปัญหาภัยแล้งหนักมาก ส่งผลต่อการผลิตและราคาสินค้าเกษตร ราคาข้าวสูงขึ้นจริง แต่ชาวนาไม่มีข้าวขายผลกระทบจึงกระจายออกไปเป็นวงกว้างมาก
หากไปดูด้านเศรษฐกิจถือว่าสอบตก หนึ่งในปัญหาของรัฐบาล คือ ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก คิดซับซ้อน อยากได้ข้อมูลใหม่บ้าง ทำให้เกิดปัญหาและความล่าช้า อย่างมาตรการ เยียวยา 5,000 บาท ใช้วิธีคิดเอางบประมาณที่มีเป็นตัวตั้งและคำนวณตามมาตรการที่ออกแบบไว้ สามารถดูแลประชาชนได้จำนวนเท่าไหร่
ทางออกควรเอาประชาชนเดือดร้อนเป็นตัวตั้ง ใช้ฐานข้อมูลคนไทย ซึ่งมีอยู่แล้ว ทั้งจากระบบประกันสังคม ผู้สูงอายุ คนพิการ เกษตรกรขึ้นทะเบียนประกันรายได้ ผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน
ง่ายๆรัฐบาลยิงเงิน 5,000 บาทผ่านระบบพร้อมเพย์บัตรสวัสดิการคนจน 14 ล้านคนก่อน หลังจากนั้นไปดูข้อมูลประชาชนกลุ่มอื่นๆ พรรคกล้าเคยเสนอตั้งแต่แรกผู้ได้รับสิทธิ์อย่างน้อย 24 ล้านคน วันนี้น่าจะถึง 30 ล้านคน
ยังมีมาตรการอื่นที่ออกไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ธนาคารออมสินปล่อยกู้ซอฟท์โลนให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อปล่อยกู้ต่อให้เอสเอ็มอี ได้รับทราบจากเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงเงินกู้ ทั้งที่เอสเอ็มอีต้องรอดเศรษฐกิจถึงไปต่อได้

ฉะนั้น มาตรการต่างๆที่ออกไปต้องมีกระบวนการตามจี้ตามจิก ประเมินเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่
รัฐบาลต้องตามขันนอตอีกเยอะเลย
ขณะที่ พ.ร.บ.การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่ไม่จำเป็น เพื่อดูแลประชาชนที่เดือดร้อน ดูเหมือนไม่จริงจังกับตรงนี้ รอให้ไปใช้เงินกู้ เห็นได้จากไม่โอนงบฯที่ไม่จำเป็นมา
ส่วนมาตรการดูแลเยียวยาโควิด ขอเริ่มจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับซื้อพันธบัตร หลายฝ่ายเสนอให้ ธปท.ทำหน้าที่ตามปกติ เพียงอัดฉีดสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์และให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลทั้งหมด เป็นแนวคิดที่ ธปท.และผู้เชี่ยวชาญต้องเอาไปคิดกัน
ส่วนผมเชี่ยวชาญด้านการคลัง มีประสบการณ์โดยตรงมาหลายครั้ง ดู พ.ร.ก.เงินกู้ปุ๊บ มีความกังวลอย่างมาก เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ในกรณีฉุกเฉิน จำเป็น เร่งด่วน และหลีกเลี่ยงไม่ได้
สมัยออก พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง ต่อมามี พ.ร.ก.ฟื้นฟูน้ำท่วม บริบทต่างกัน ผลการใช้ต่างกัน ทั้งสองฉบับถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด และยังมี พ.ร.บ.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2 ล้านล้านบาท ศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏิเสธความจำเป็นในเรื่องนี้ แต่ถูกตีตกด้วยเหตุผลที่น่าสนใจว่า เงินกู้เป็นเงินแผ่นดิน เว้นจากกรณีจำเป็น ฉุกเฉิน
เงินแผ่นดินต้องออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณเท่านั้น จะออกเป็นกฎหมายหรือ พ.ร.บ.ต่างหากไม่ได้
ฉะนั้น เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก้อนแรก 6 แสนล้านบาท นำไปเยียวยา ประชาชน เกษตรกรและดูแลด้านสาธารณสุข ถือว่าสมเหตุสมผลจำเป็นเร่งด่วน และยังมีเงินอีก 1 แสนล้านบาทจากโอนงบประมาณ
ปี 63 โดยเอาประชาชน 30 ล้านคนเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนและยังมีเงินเหลือจ่ายได้ในเดือนต่อไปอีก
ต่างกับงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทที่จำเป็น แต่ไม่เร่งด่วน ควรบรรจุใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 64 อย่าฉวยโอกาสในช่วงวิกฤติอนุมัติไม่ผ่านการตรวจสอบของสภาฯ เพราะเสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่การทุจริต ตอนนี้ทุกกระทรวงเตรียมรุมทึ้งงบฯส่วนนี้แล้ว และนำไปสู่การขาดวินัยนำไปใช้โดยไม่มีประสิทธิภาพ
ผลกระทบที่เกิดขึ้น หนี้สาธารณะเพิ่ม แต่เศรษฐกิจไม่ฟื้น มีโอกาสนำไปสู่วิกฤติความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ ในที่สุดนำไปสู่วิกฤติครั้งต่อไป เป็นวิกฤติเฉพาะของไทย
ทั้งหมดเป็นมาตรการเลี้ยงเศรษฐกิจไม่ให้ตาย เลี้ยงประชาชนให้อยู่รอด ถือว่าถูกต้อง และการฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องคิดควบคู่กันไป เศรษฐกิจไทย ฟื้นได้หรือไม่ ต้องถอยไปตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจหลังโควิดเหมือน
หรือแตกต่างก่อนโควิดอย่างไร โลกเปลี่ยนแน่นอน ประเทศไหนสร้างความมั่นใจให้โลกก่อนย่อมได้เปรียบ ไทยอยู่ในเกณฑ์นั้น

ผลจากการบริหารระบบสาธารณสุขเป็นที่ยอมรับของชาวโลก และเป็นประเทศผลิตอาหาร ฟู้ดซีเคียวริตี้ก็สำคัญ เป็นโอกาสกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์โดยเฉพาะทางการเกษตร
ยุทธศาสตร์การเยียวยาประชาชน-ฟื้นฟูผู้ประกอบการต่อเนื่อง โดยลดภาระประชาชน-ผู้ประกอบการด้วยการปรับลดภาษีบางส่วน และทุกหน่วยราชการต้องยกระดับมาตรฐานบริการด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี นำมา ประยุกต์ใช้บริการประชาชน
ยุทธศาสตร์เหล่านี้หลังโควิดต้องทำ.
ทีมการเมือง