ได้ใจชื้นกันมาหลายวันติดๆจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลง

สถิติล่าสุดวันที่ 18 เม.ย.2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 28 ราย ลดลงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มไปในทางที่ดี พอได้เห็นความหวังผ่อนคลายการล็อกดาวน์

ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำลังพิจารณามาตรการกึ่งล็อกดาวน์

อนุโลมให้กิจการบางประเภท อาทิ ร้านเสริมสวย ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการได้ ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด

คนไทยหายใจหายคอคล่องขึ้น แต่ยังต้องทนกัดฟันสู้สงครามเชื้อโรคเป็นหนังชีวิต

ไม่จบลงง่ายๆในระยะเวลาอันใกล้

เหมือนที่ประเทศจีนส่อเค้าเผชิญกับเชื้อโควิด-19 รอบสอง หลังพบผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ภายหลังเริ่มมาตรการผ่อนปรนเปิดเมืองบางจุด ขณะที่สถานการณ์ไวรัสมรณะทั่วโลกก็ยังน่าห่วง มีผู้ติดเชื้อพุ่งเกิน 2 ล้านคน เสียชีวิตทะลุแสนราย

จึงเป็นเหตุผลที่ประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดทุกฝีก้าว ห้ามการ์ดตกเด็ดขาด

ควบคู่ไปกับช็อตเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การแก้ปัญหาปากท้องประชาชนที่ตกงานหรือได้รับผลกระทบจากอิทธิฤทธิ์โควิด-19

อย่างที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องการันตีหนักแน่นรัฐบาลสามารถจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ให้ประชาชนได้ครบ 3 เดือน ตามที่ตกปากรับคำไว้

สยบความแตกตื่นภาวะถังแตกของรัฐบาล หลังจากพลั้งปากทำให้คนเข้าใจผิด รัฐบาลมีปัญญาจ่ายเงินช่วยเหลือได้แค่เดือนเดียว

ระดับผู้นำต้องรีบขอโทษที่สื่อสารผิดพลาดสร้างความสับสนไปทั่ว

ในมุมที่รัฐบาลเองก็ต้องยอมรับความเป็นจริง ระบบเอไอที่สกรีนผู้เข้าข่ายได้รับการเยียวยานั้น มีความบกพร่อง ฐานข้อมูลประชาชนไม่ตรงกับความเป็นจริง

...

หลายคนถูกยัดเยียดเป็นเกษตรกร นักศึกษา ทั้งที่ไม่ใช่ชาวไร่ ชาวนา หรือนักศึกษา ขณะที่ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยตามตลาดนัดก็ถูกแปรสภาพเป็นเจ้าของกิจการ หมดสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

ถึงจะเปิดช่องให้ผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า สุดท้ายจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ อีกทั้งระยะเวลาอุทธรณ์ก็กินเวลาหลายวัน ระหว่างนี้ชาวบ้านจะเอาอะไรมายาไส้

เป็นเรื่องที่รัฐบาลเองก็ต้องเร่งรัดให้การช่วยเหลือไปถึงผู้เดือดร้อนโดยเร็ว

ภาวะท้องหิวยังไงก็เลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลต้องทนถูกด่าหูชา ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าการไม่มีตังค์ในกระเป๋า ในยามที่เงิน 5,000 บาท เป็นความหวังสุดท้ายในการต่อลมหายใจของใครหลายคน

“ลุงตู่” เองก็ตกที่นั่งลำบาก เพราะรู้อยู่เต็มอก ไม่มีอาชีพใดไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสมฤตยู แต่ไม่สามารถเอาเงินไปไล่แจกดะได้ทุกกลุ่ม เงินทุกบาททุกสตางค์เป็นของแผ่นดิน ต้องมีขั้นตอนตรวจสอบพิถีพิถัน มีหลักเกณฑ์เบิกจ่ายควบคุมถี่ยิบ

ยังไงก็ต้องใช้เวลากลั่นกรองสักระยะ ขืนทำผิดพลาดขึ้นมาก็เสี่ยงติดคุกหัวโตได้ในภายหลัง

อีกเรื่องที่น่าห่วงคือ การใช้งบประมาณเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการทุจริตเอื้อพวกพ้อง

ตามที่หลายฝ่ายทั้งฝ่ายค้าน หรือ ส.ว.ออกมาดักคอล่วงหน้า จากที่เคยเห็นเรื่องการหักหัวคิวงบประมาณช่วยเหลือคนพิการ คนด้อยโอกาส เด็กนักเรียน และผู้ประสบภัย

บทเรียนในอดีตเคยมีตัวอย่างให้เห็น เตือนสติ “ลุงตู่” ต้องระวังไม่ให้เกิดการทุจริตในทุกรูปแบบ

การใช้งบประมาณเงินกู้ต้องรัดกุมรอบคอบ ไม่ให้มีการชักเปอร์เซ็นต์เรื่องการเยียวยาผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข

อย่างที่ล่าสุด นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ออกมาตั้งข้อสังเกต การใช้งบประมาณเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเที่ยวนี้อยู่ในออปชันพิเศษ เป็นเงินนอกงบประมาณรายจ่ายประจำปี การใช้เงินอยู่ในอำนาจของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา

คนกันเองก็ยังระแวง ออกมาเตือนด้วยความเป็นห่วงให้ระวังแร้งลงรุมทึ้งงบประมาณก้อนมหึมา

เชื้อชั่วขบวนการทุจริตจ้องกอบโกยผลประโยชน์ปากมัน ขืน “ลุงตู่” สร้างเกราะป้องกันไม่ดี ลงกลอนปิดประตูโกงไม่แน่นหนาก็ยิ่งเป็นเรื่องอันตราย

อารมณ์โมโหหิวชาวบ้านผสมโรงกับแผลทุจริต ยิ่งง่ายต่อการเขี่ยเชื้อไฟให้ลุกลามออกไป

จุดติดขึ้นมาเมื่อไรอานุภาพรุนแรงกว่าเชื้อโควิดหลายเท่า!!!

ทีมข่าวการเมือง