ปฏิบัติการต่อต้านรับมือกับ ไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลระดมกำลังทุกที่ ทุกทางในการป้องกันและรักษาชีวิตพลเมืองและได้รับความร่วมมือค่อนข้างดี จากประชาชนคนไทยในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจก็ตกต่ำซ้ำเติมอย่างหนักหน่วงทำให้สถานการณ์ในเมืองไทยดำเนินไปแบบมองไม่เห็นอนาคตว่าสภาพปกติจะกลับฟื้นคืนมาเมื่อไหร่

ในแต่ละจังหวัดผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมสู้ศึกในฐานะ แม่ทัพใหญ่ ก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นั้นทุกคนก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจจัดการกับปัญหาทุกอย่างตามเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ มาถึงจุดนี้ที่มีความจำเป็นต้องสลับสับเปลี่ยนตัว เจ้าเมือง ในบางพื้นที่นั้นก็เป็นไปด้วยความเหมาะสมกับสภาพการณ์ไม่ถึงขนาดจะเรียกว่าเป็นการ เปลี่ยนม้ากลางศึก การเปลี่ยนแปลงจากที่หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่งไม่ใช่ความผิดของใครเพราะตำแหน่งผู้ว่าฯก็คือผู้ว่าฯจะไปอยู่ที่ไหนก็ยังเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด อยู่วันยังค่ำ

ที่ปรารภมาอย่างนี้เพราะคิดว่าเข้าใจในความรู้สึกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยขอยกกรณี จังหวัดภูเก็ตมาเป็นตัวตั้ง แนวทางการทำงานของ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผวจ.ภูเก็ต นั้นเป็นไป ตามแนวทางที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดทุกอย่างทุกประการ แต่จากสภาพความเป็นจริงของภูเก็ตซึ่งเป็น เมืองท่องเที่ยว มีชาวต่างชาติ ปักหลักอยู่มากมายหลายเชื้อชาติชนิดร้อยพ่อพันแม่ย่อมเป็นปัญหาที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น

เมื่อเริ่มต้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นให้ใครที่แน่มาจากไหนก็ไม่อาจควบคุมการลุกลามแพร่เชื้อเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วได้และอย่าลืมว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 นั้นเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์หนักหน่วงยากที่จะใช้วิธีการอื่นในการแก้ไขแล้ว และจุดนี้เองที่ผู้ว่าราชการจังหวัด เพิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินการทุกอย่างและสามารถใช้อำนาจควบคุมการเพิ่มจำนวน ผู้ติดเชื้อ ให้ค่อยๆลดลงได้ ดังนั้นการกล่าวว่าภูเก็ตมีการระบาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวนประชากรนั้นก็เป็นความจริงแต่เป็นความจริงที่มี ปัจจัยอื่นประกอบ ที่จังหวัดอื่นๆแทบไม่มี

อาจจะเป็นโชคร้ายของ ผู้ว่าฯ ภัคพงศ์ ที่ภูเก็ตเป็นเมืองร้อยพ่อพันแม่มีทั้งประชากรจริง และประชากรแฝง นอกจากคนภูเก็ตที่มีอัธยาศัยดีงามขี้เกรงใจคนอื่นแล้วยังมีผู้คนจากทั่วประเทศและที่มากที่สุดคือคนจากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้เข้ามาทำมาหากินกันมากมาย ส่วนในระดับนายทุน นอกจาก เศรษฐีภูเก็ต ประเภท นายเหมือง หรือ เถ้าแก่สวนยาง เป็นพื้นฐานแล้วยังมี นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติอีกมากมาย ทั้งหมดนี้ล้วนมีอำนาจอิทธิพลทางการเงินทั้งสิ้น และทุกคนเสียงดังไม่มีใครเกรงใจใครการทำงานในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้อาจสร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่คิดว่าผู้ว่าฯไม่ตอบสนองประโยชน์ของตนเท่าที่ควร

กระทรวงมหาดไทยเองเมื่อมีความจำเป็นต้องย้ายผู้ว่าฯ ภูเก็ต เชื่อว่าผู้ที่จะต้องดำเนินการคือ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคงจะเห็นใจและเข้าใจในความเป็นไปจึงจัดให้มาอยู่ในที่ที่มีความเหมาะสมอย่างเพชรบุรี

...

ถ้าจะว่าไปแล้วผู้ที่เสียสละมากที่สุดคงจะเป็น นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่เต็มใจลุกจากเก้าอี้เจ้าเมืองเพชรไปอยู่ชัยภูมิแทน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ที่เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในฐานะผู้ว่าฯ ภูเก็ต

เรื่องราวที่ดูเหมือนจะน่าหนักใจก็สามารถคลี่คลายได้เพราะบุคคลที่เกี่ยวข้องล้วนแต่เป็นสิงห์ดำ ที่ร่วมทำงานกันมาที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สมัยที่ปลัดฉัตรชัย เป็นรองอธิบดีและอธิบดีกรมนี้ ก็มีชื่อผู้ว่าฯกอบชัย เป็นเลขานุการกรม ผู้อำนวยการสำนัก และรองอธิบดี

ส่วน ผู้ว่าฯ ณรงค์ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นพิเศษไปเป็น ผวจ.ภูเก็ต คนใหม่นั้นเป็นชาวพัทลุง สิงห์ทอง จากรามคำแหง แถมมีปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตติดมาด้วยอีกใบ รับราชการเติบโตมาจาก ศอ.บต. เป็นผู้อำนวยการกองกิจการพิเศษ ผู้ช่วยเลขาธิการ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกระบี่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ปี 2560 ที่น่าสนใจคือมีอายุราชการยาวไกลถึงปี 2566

“ซี.12”