นายไชยา พรหมา กมธ.ติดตามงบฯ ติง มท.พิจารณาโควิด-19 ไม่เข้าข่าย “สาธารณภัย” ใหม่ ทำท้องถิ่นของบกลางไม่ได้ เตือนงบฯภัยแล้งปี 2563 เร่งให้เสร็จเร็วเกินไป หวั่นไม่รอบคอบ จับตาโครงการสูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ ล็อกสเปก
วันที่ 10 เม.ย. นายไชยา พรหมา ประธาน กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดการประชุมทางไกลเพื่อซักซ้อมความเข้าใจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ (อปท.) เพื่อแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เมื่อ 7 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา มีการสอบถามแนวทางปฏิบัติการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้อ้างประกาศกระทรวงสาธารณสุข (26 ก.พ. 63) ด้วยเหตุผลว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย แต่ไม่เข้าข่ายเป็นโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 จึงถือว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายเป็นสาธารณภัย
ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 ได้ให้คำนิยาม “สาธารณภัย” ว่า หมายรวมถึงโรคระบาดในมนุษย์อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น หรือเหตุอันใดซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของประชาชน แต่การตีความของกระทรวงมหาดไทยกลับตีความว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ถือว่าเป็นสาธารณภัย ปิดโอกาสท้องถิ่นใช้งบกลางได้
นายไชยา พรหมา ยังได้กล่าวอีกว่า ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2562 ให้คำจำกัดความว่า “ภัยพิบัติ” หมายถึง “สาธารณภัย” อันเป็นภัยที่เกิดจากโรคที่แพร่ระบาดในมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายของประชาชน น่าจะเพียงพอกับคำว่า “สาธารณภัย” อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ ดังนั้นรัฐจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็ว แต่การตีความของกระทรวงมหาดไทย กลับทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมดโอกาสในการขอรับการสนับสนุนงบกลางจากรัฐบาลเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เท่ากับรัฐบาลไม่ให้เครื่องมือหรืออาวุธแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ต่อสู้ในครั้งนี้ อีกทั้งเกิดการเคลื่อนย้ายประชาชนกลับภูมิลำเนาเป็นอย่างมาก และรัฐบาลมีมาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีความจำเป็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีงบประมาณเพียงพอเพื่อสนับสนุนการทำงาน ตลอดจนการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้แก่ประชาชนในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในพื้นที่ของตนเองไม่ให้กระจายออกไปอย่างเร่งด่วน
...
"เป็นที่สังเกตว่า การตีความ “สาธารณภัย” ของกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้ อาจเป็นความพยายามที่จะดึงงบกลางไว้ใช้เองแต่เพียงผู้เดียว เป็นการปิดโอกาสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะใช้งบกลางมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง จึงอยากจะให้กระทรวงมหาดไทยได้ทบทวนเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน" นายไชยา กล่าว
นายไชยา ได้กล่าวถึงการร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการฯ กรณีงบภัยแล้งในปีที่ผ่านมาว่า มีการแบ่งย่อยโครงการออกเป็นโครงการย่อยๆ โครงการละไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการ E-auction ซึ่งอาจเป็นช่องทางทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย อีกทั้งมีการเรียกผู้รับเหมามาตกลงราคาเป็นการชี้เฉพาะเจาะจงเป็นรายๆ มีการเรียกรับผลประโยชน์มหาศาล เนื่องจากระยะเวลาเร่งด่วน อีกทั้งขณะนี้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีการจ้างงาน ผู้รับเหมาจึงดิ้นรนเพื่อให้ได้รับงานจากทางราชการ ทราบว่าในปีที่ผ่านมามีบางจังหวัดมีการเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการภัยแล้งเป็นการล่วงหน้าก่อนการเซ็นสัญญา ซึ่งทำให้งานออกมาไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้รัฐได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยได้เข้มงวดการใช้จ่ายงบประมาณภัยแล้งในปี 63 นี้ ให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขปัญหา และอยากให้ถอดบทเรียนในปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องทางการทุจริตเกิดขึ้นอีก เท่ากับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ของประเทศให้เลวร้ายลงไปอีก
นายไชยา ยังบอกให้จับตาโครงการสูบน้ำด้วยพลังแสงอาทิตย์ ที่มีการวิ่งเต้นเสนอโครงการเป็น Package ให้กับหน่วยงานในจังหวัดต่างๆ เพื่อเสนอขอรับงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งโดยชื่อของโครงการแล้วดูสมเหตุสมผลเป็นอย่างมาก ที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เพราะเป็นการประหยัดพลังงาน ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า ซึ่งในปีที่ผ่านมาทราบว่าหลังการตรวจรับงานแล้ว ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากสินค้าไม่มีคุณภาพ กลายเป็นอนุสาวรีย์ในหลายจังหวัด ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณเป็นอย่างมาก และได้รับทราบว่า มีการล็อกสเปกเพื่อให้บริษัทที่ใกล้ชิดกับคนของรัฐบาลได้รับงานในครั้งนี้ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าวนี้ เพราะได้รับการร้องเรียนมาหลายจังหวัด และกำลังดำเนินการตรวจสอบต่อไป.