กองบัญชาการกองทัพไทย เผย 2 เที่ยวบินจากมาเลเซียและกาตาร์ถึงไทยเมื่อคืนนี้ 97 คนไทยถูกนำไปสถานกักตัวของรัฐเพื่อเฝ้าระวังโควิด-19 แล้ว ส่วนอีก 1 ราย พบมีไข้ สธ.พาแยกไปดูแลตามขั้นตอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.39 น. วันที่ 5 เม.ย. 2563 แฟนเพจเฟซบุ๊ก กองบัญชาการกองทัพไทย (Royal Thai Armed Forces) เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์การคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ภายหลัง พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ได้มอบหมายให้ พลเอกปริพัฒน์ ผลาสินธุ์ รองเสนาธิการทหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ผ่านการคัดกรองและจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคตามมาตรการของรัฐที่กำหนด (State Quarantine) เพื่อนำเข้าพื้นที่ควบคุมโรคต่อไป ณ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center หรือ EOC) ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

...

ทั้งนี้ การปฏิบัติเมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 4 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา เที่ยวบินจากประเทศมาเลเซีย ไฟลต์ MH782 มีคนไทยจำนวน 51 คน เดินทางมาถึงยังท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ การผ่านเทอร์โมสแกน การลง App.AOT การตรวจ Health Control และนำขึ้นรถบัส เพื่อเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคตามมาตรการของรัฐที่กำหนด ณ โรงแรมเดอะภัทรา ถนนพระรามเก้า กรุงเทพฯ

จากนั้นเวลา 22.00 น. เที่ยวบินขาเข้า QR7511 ออกจากเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ กลับถึงประเทศไทย มีผู้โดยสารคนไทยจำนวน 47 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำเข้าสู่กระบวนการเช่นเดียวกับเที่ยวบินจากประเทศมาเลเซีย โดยผลการตรวจพบผู้ป่วยมีอาการไข้ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 36 ปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับตัวไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป สำหรับผู้โดยสารที่เหลือพาขึ้นรถบัสเพื่อเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคตามมาตรการของรัฐที่กำหนด ณ โรงแรมเดอะภัทรา ถนนพระรามเก้า เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การจัดระบบเพื่อชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ที่มีความชัดเจนและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สามารถบริหารจัดการเวลาให้มีความกระชับ ทั้งยังลดขั้นตอนความยุ่งยากที่เกิดขึ้น ทำให้การปฏิบัติทั้งหมดใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้นเพียงประมาณเที่ยวบินละ 1 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น ขอให้ประชาชนโปรดให้ความร่วมมือในการเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคตามมาตรการของรัฐที่กำหนด และมีความมั่นใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ซึ่งได้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ.