มาตรการรับมือไวรัสของรัฐบาลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก จนชาวบ้านสับสนมึนเค
แรกเริ่มเดิมที รัฐบาลลุงตู่สั่งจัดตั้งศูนย์กักกัน คนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้ชัวร์ 14 วัน ก่อนปล่อยตัวกลับภูมิลำเนา
ปรากฏว่าหลังจากเปิดศูนย์กักตัวได้ 3 วัน นายกฯลุงตู่มีคำสั่งด่วนให้ปิดศูนย์กักตัวทุกแห่งทันที
เปลี่ยนแผนใหม่ให้ผู้ที่ถูกกักตัวเกือบ 500 คน กลับไปกักตัวเองที่บ้านจนครบ 14 วัน
ถามว่า...เหตุใดรัฐบาลเกิดเปลี่ยนใจปุบปับฉับพลัน??
ตอบว่า...เพราะรัฐบาลเพิ่งคิดได้ภายหลังว่าการเปิดศูนย์กักตัวเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
“แม่ลูกจันทร์” ย้อนไปถึงเหตุผลที่ นายกฯลุงตู่ สั่งจัดตั้งศูนย์กักตัวคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้ไปอยู่รวมกัน
เพื่อป้องกันไม่ให้ออกไปเพ่นพ่านแพร่เชื้อไวรัสไปติดคนอื่นทั่วบ้านทั่วเมือง
ส่วนเหตุผลที่ นายกฯลุงตู่ เกิดเปลี่ยนใจสั่งปิดศูนย์กักตัวคนไทยหลังเปิดศูนย์ได้แค่ 3 วัน
เพราะการเอาคนจำนวนมากที่กลับจากประเทศเขตโรคติดต่ออันตรายให้ไปกินนอนรวมกันในที่แห่งเดียว 14 วัน
หากมีคนที่ติดเชื้อไวรัสมาจากต้นทางเพียงคนเดียวสามารถแพร่กระจายไวรัสไปติดต่อคนอื่นๆอีกร้อยคน หรืออีกหลายร้อยคน
แทนที่ศูนย์กักตัวจะเป็นศูนย์ป้องกัน ดันกลายเป็นศูนย์แพร่กระจายไวรัสเสียเอง
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าเมื่อศูนย์กักตัวถูกยกเลิกไป ผู้ที่ถูกกักตัวอยู่ในศูนย์ก็ถูกส่งกลับภูมิลำเนาไปกักตัวเองบ้านใครบ้านมันจนครบ 14 วันตามกติกา
ห้ามออกนอกเขตบ้านตลอด 24 ชั่วโมง
ใครที่กลับถึงบ้านแล้วเป็นไข้ไอจาม ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รับตัวไปสังเกตอาการที่โรงพยาบาลทันที
...
ปัญหาคือ...ในช่วง 3 วันที่ถูกกักตัวอยู่รวมกัน มีการแพร่เชื้อไวรัสหรือไม่? และมีคนได้รับเชื้อไวรัสไปแล้วกี่คน??
เพราะไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสเกิดง่ายตายช้า สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ ตม.สนามบินสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่ตรวจสัมภาระผู้โดยสารที่สนามบิน ต้องเป็นเหยื่อรับเชื้อไวรัสไปอีก
2 ราย
แม้สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือป้องกันก็ไม่สามารถป้องกันไวรัสมหาภัยได้ 100 เปอร์เซ็นต์
แค่สัมผัสเชื้อไวรัสที่ติดอยู่บนเล่มพาสปอร์ต หรือสัมผัสไวรัสที่ติดอยู่กับสัมภาระผู้เดินทางผ่านสนามบินก็ไม่ปลอดภัย
ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันไดเลื่อน ลูกบิดประตู ฯลฯ เป็นจุดพึงระวัง
แม้แต่ธนบัตรที่ผ่านมือคนใช้ไม่รู้กี่คน หากมีไวรัสติดอยู่ก็แพร่เชื้อได้เช่นกัน
ข้อมูลแบงก์ชาติระบุว่า เชื้อไวรัสตัวนี้หากติดบนผิวธนบัตรที่เป็นกระดาษจะมีชีวิตถึง 5 วัน
ถ้าเป็นธนบัตรพลาสติกจะมีชีวิตได้ถึง 9 วัน
ฉะนั้น เพื่อป้องกันไวรัสแพร่กระจาย แบงก์ชาติจะนำธนบัตรที่หมุนกลับมาไปพักไว้ 14 วัน ก่อนปล่อยกลับมาหมุนเวียนต่อไป
ท่านที่หยิบจับแบงก์ร้อยแบงก์พัน ควรล้างมือทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยนะคุณโยม.
“แม่ลูกจันทร์”