"เศรษฐพงค์" เล็งเสนอแก้ปัญหากำกับดูแลโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มหรือ OTT ชี้ขาดกฎหมายควบคุมติดตาม แนะแก้กฎหมายเก่า-ทำกฎหมายใหม่ เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ ทั้งในและต่างประเทศอย่างสมบูรณ์แบบ
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.63 พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส กล่าวถึงปัญหาอาชญากรรมความมั่นคงทางไซเบอร์ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะการกระทำผิดผ่านการใช้แพลตฟอร์มต่างชาติ ว่า ตนเองในฐานะที่อยู่ในวงการเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารมานาน มองเห็นปัญหาความรุนแรงที่กระทำผ่านสื่อโซเชียลในหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบริการที่เรียกว่า Over The Top (OTT) หรือการให้บริการสื่อสาร แพร่ภาพ และเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณเอง ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มที่เราใช้กันอยู่ไม่ว่าจะเป็น facebook, youtobe, Line, Uber เป็นต้น โดยเมื่อเกิดการกระทำผิด เช่น การก่ออาชญากรรม การโจมตีทางไซเบอร์ หรือแม้กระทั่งการสร้างข่าวปลอม การใช้เฮทสปีช ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ หรือเว็ปไซต์ที่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ จะเกิดปัญหาในการติดตามจับกุมที่ทำได้ล่าช้า หรือบางกรณีทำไม่ได้เลย เนื่องจากกฎหมายของไทยไม่ได้ครอบคลุมไปถึงแพลตฟอร์ม หรือเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ต่างประเทศ
"ในส่วนที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เรียกว่า เป็นปัญหา Cyber Sovereignty หรืออธิปไตยไซเบอร์ ที่ทุกประเทศมีสิทธิกำหนดนโยบายด้านไซเบอร์ของตัวเอง เพื่อป้องกันการรุกรานโดยต่างชาติในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้ทหาร ไม่ต้องใช้กำลังหรืออาวุธใดๆ แต่เป็นการรุกรานทางความคิด ความเชื่อ ที่คนเราค่อยๆรับข้อมูลเข้ามาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปโดยไม่รู้ตัว ไปเป็นพฤติกรรมที่ต่างชาติต้องการ เช่น ทำให้ชอบหรือไม่ชอบ รักหรือเกลียดในบุคคล สินค้า บริการ หรือองค์กรต่างๆ ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงของชาติได้" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
...
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ตนเองและเพื่อน ส.ส.จำนวนหนึ่งเห็นความสำคัญของปัญหาข้างต้นอย่างมาก จึงมีแนวคิดที่จะเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่ครอบคลุมแพลตฟอร์มและเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุด เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ยังบังคับใช้ได้ไม่ครอบคลุมแพลตฟอร์มที่อยู่ต่างประเทศ ดังนั้นแนวทางที่กรรมาธิการฯจะต้องศึกษา คือ อาจจะต้องปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิม เช่น ต้องเพิ่มอำนาจการกำกับดูแลใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) หรือร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีหน่วยงานโดยเฉพาะ ในการติดตามตรวจสอบและจับกุมการกระทำผิดดังกล่าว กรรมธิการฯชุดนี้จะต้องหาแนวทาง วิธีการ เพื่อจัดการ และป้องกันภัยทางไซเบอร์ ซึ่งสิ่งที่กรรมาธิการฯจะต้องศึกษาเพื่อเสนอแก้กฎหมาย หรือร่างกฎหมายขึ้นใหม่จะต้องยึดหลักการ คือ 1.ต้องขยายขอบเขตมุมมองในการบริหารจัดการแพลตฟอร์มและเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ต่างประเทศ 2.จะต้องรักษาความเป็นธรรมให้กับแพลตฟอร์มทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ 3.จะต้องไม่เพิ่มภาระหรือเป็นอุปสรรคของคนที่ใช้เว็ปไซต์หรือแพลตฟอร์มนั้นๆ ซึ่งการตั้งกรรมาธิการฯชุดนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหา และป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบทั้งในและต่างประเทศ