“ส.ว.สถิตย์” เสนอแนวทางแก้ปัญหาความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ลดการสูญเสียไม่เกิน 12 คนต่อประชากร 1 แสนคนในปี 65 ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563ในการประชุมวุฒิสภา วาระรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของกองทุนเพื่อความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2560 ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ให้ข้อมูลว่า กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เป็นทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกนำหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยมของประชาชนออกประมูลเป็นการทั่วไป และให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกรมการขนส่งทางบก เรียกว่า กปถ. โดยให้นำเงินรายได้จากการประมูลทั้งหมดเข้ากองทุน เพื่อเป็นทุนสนับสนุนและส่งเสริมด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอันเกิดจากการใช้รถใช้ถนน
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมมีมติอนุมัติแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2561–2564 มีเป้าประสงค์ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตยานพาหนะที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลสำหรับ ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม และมีตัวชี้วัด อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 18 คนต่อประชากร 1 แสนคน ภายในปี 2564 และการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ แต่ต่อมาวันที่ 18 เมษายน 2562 มีราชกิจจานุเบกษาเรื่อง การประกาศแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) โดยแผนแม่บทประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีประเด็นย่อย โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ กำหนดให้ “...ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้มีมาตรฐานในระดับสากล” และมีเป้าหมายตามแผนแม่บทคือ โดยให้อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คนต่อประชากร 1 แสนคน ภายในปี พ.ศ.2565
...
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก มีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละประมาณ 22,491 ราย คิดเป็น 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน พร้อมกันนี้ ดร.สถิตย์ ยังแสดงความยินดีกับ กปถ. ที่สามารถบริหารงานได้ดี ทำให้รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย 536 ล้านบาท โดยมีรายได้ 1,595 ล้านบาท และมีรายจ่าย 1,059 ล้านบาท และชื่นชมคณะกรรมาธิการคมนาคมวุฒิสภา ที่ได้สรุปและเสนอแนะเกี่ยวกับรายงานในเรื่องนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติดังนี้
1. ควรปรับปรุงเป้าหมายของแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2561-2564 ให้อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คนต่อประชากร 1 แสนคน ภายในปี พ.ศ.2565 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
2. ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในโครงการยานพาหนะปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถยนต์หรือยานพาหนะให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาปัจจัยนี้ยังไม่อยู่ในความสนใจมากนัก ควรดำเนินตามข้อเสนอแนะของหนังสือความไม่ปลอดภัยในความเร็วใดๆ (Unsafe at Any Speed)
3. เพิ่มเติมโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในทุกมิติ ทั้งผู้ขับขี่ ผู้จำหน่ายสุราหรือของมึนเมาตามเส้นทางสัญจร
4. สนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนอื่นๆ อาทิ ถนนปลอดภัย การแพทย์ฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยทางถนน หรือมาตรการให้ความรู้ความเข้าใจ เสริมสร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
5. ดำเนินโครงการจัดหาเงินทุนเพื่อการดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ มาตรการเพิ่มจำนวนหมายเลขทะเบียนสวย การประชาสัมพันธ์รับบริจาค หรือรวมทั้งมาตรการอื่นๆ เพื่อเพิ่มเงินในกองทุนให้มากขึ้น
ในช่วงท้าย ดร.สถิตย์ สรุปว่า หากสามารถดำเนินตามข้อเสนอแนะแล้ว ความไม่ปลอดภัยในความเร็วใดๆ ก็อาจจะลดน้อยลง อันจะส่งผลให้ความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ผลที่ตามมาคืออัตราการสูญเสียบนท้องถนนก็จะลดลงไปเป็นไม่เกิน 12 คนต่อประชากร 1 แสนคนในปี 2565 ตามเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็น โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม.