"ปิยบุตร" ชี้ ความจำเป็นตั้ง กมธ.ป้องกันรัฐประหาร ลั่น ไม่ใช่ญัตติเพ้อฝัน หวัง ส.ส.แสดงจุดยืนร่วม อัด กี่คณะยึดอำนาจ ล้วนข้ออ้างเดิมซ้ำซาก แนะ ฟ้องเอาผิดอาญา ม.113 ได้
วันที่ 6 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายในการเสนอ ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต โดยระบุถึงความจำเป็นต้องมี กมธ.ชุดนี้ว่า ตราบใดที่เรายังไม่สามารถปฏิรูปกองทัพ ตราบใดที่เรายังไม่สามารถหาแนวทางป้องกันการรัฐประหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ก็มีโอกาสอยู่เสมอที่จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นี่จึงเป็นที่มาของญัตตินี้ที่สมาชิกจากพรรคอนาคตใหม่ได้ร่วมกันเสนอ

นายปิยบุตร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เขียนสอดคล้องต้องกันเสมอว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายและการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งจะใช้บังคับมิได้ ขณะเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ก็เขียนเอาไว้ถึงการกระทำที่เป็นกบฏ ใครฉีกรัฐธรรมนูญ ใครล้มล้างการปกครอง คนนั้นถูกประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต มีความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร แต่น่าสงสัยว่า ทำไมประเทศไทยเจอรัฐประหารบ่อยครั้ง ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ย คือ ทุกๆ 6 ปีเศษ จะมีรัฐประหารหนึ่งครั้ง
...

นายปิยบุตร กล่าวว่า การรัฐประหารคือการยึดอำนาจการปกครองประเทศด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มักมีข้ออ้างวนเวียนไม่กี่ข้อ หนึ่ง รัฐบาลในเวลานั้นมีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อีกข้อหนึ่งที่ใช้กันบ่อย คือ ภัยคอมมิวนิสต์กำลังคุกคามประเทศ อีกข้อหนึ่งที่มักนำเอามาใช้ในระยะหลังๆ คือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล และเหตุผลหนึ่งซึ่งใช้กันในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันไม่ค่อยกล้าใช้แต่เป็นเหตุผลที่แฝงไว้อยู่ คือ รัฐบาลมีความขัดแย้งกับกองทัพ เหตุผลต่างๆ เหล่านี้วนเวียนกันอยู่ในคำประกาศเวลายึดอำนาจทุกครั้งไป คือ ทหารเข็นรถถังไปยึดสถานีโทรทัศน์ ยึดสถานที่สำคัญ แล้วตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า ยึดอำนาจหมดแล้วขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ หลังจากนั้นก็จะฉีกรัฐธรรมนูญแล้วปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ สักพักหนึ่งจะออกรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกมา เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้คณะรัฐประหารในการสืบทอดอำนาจต่อไป แล้วค่อยไปทำรัฐธรรมนูญถาวร ถ้าอยากอยู่ยาวก็จะดึงเวลารัฐธรรมนูญชั่วคราวให้นาน ถ้าอยู่สั้นหน่อยรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็เป็นชั่วคราวจริงๆ แล้วค่อยใช้รัฐธรรมนูญถาวรเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า เมื่อเราดูวัฏจักรวงจรของรัฐธรรมนูญของไทย ฉบับชั่วคราวกับฉบับถาวร ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2475 ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 88 แต่ปรากฏว่าเรามีชีวิตอยู่กับรัฐธรรมนูญชั่วคราว กับระบบรัฐประหาร มากกว่าการมีชีวิตอยู่ในระบบรัฐธรรมนูญถาวรหรือรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยนี่คือปัญหาเรื้อรังของประเทศไทย นี่คือสิ่งที่นักวิชาการรัฐศาสตร์เรียกว่าวงจรอุบาทว์ วนแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประชาชนคนไทยจำนวนมากใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ จนเริ่มมีความรู้สึกว่ารัฐประหารเป็นเรื่องปกติ เป็นยาสามัญประจำบ้าน เวลามีวิกฤติก็เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ทั้งๆ ที่รัฐประหารเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรรมสูงสุดต่อแผ่นดิน ขัดขวางพัฒนาการประชาธิปไตย เป็นเรื่องแปลกประหลาด เป็นข้อยกเว้น
"วันนี้เราเกิดความรู้สึกว่า การรัฐประหารเป็นเรื่องปกติ อยู่ๆ กันไปเดี๋ยวก็มากันอีก ถ้ามาเมื่อไหร่พวกเราก็แยกย้ายกลับบ้านไป วันไหนมีรัฐธรรมนูญถาวรเพื่อนสมาชิกของเราในที่แห่งนี้ก็ค่อยไปลงเลือกตั้งกันใหม่ แล้ววันหน้าเขายึดกันอีกก็ถือเป็นวันพักผ่อนของพวกเรา วนแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราอยู่กับมันโดยคุ้นชินไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่มันเป็นอนันตริยกรรม" นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า อยากชี้ชวนให้ลองพิจารณากันดูว่า ท้ายที่สุดแล้ววงจรอุบาทว์พวกนี้คืออะไร เรามักจะบอกว่าการรัฐประหารมีความจำเป็นต้องทำเพราะเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง หาทางออกไม่ได้ เมื่อเกิดการแตกแยกของคนในชาติ นักการเมืองเป็นคนไม่ดี ทหารต้องเข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศ นี่คือข้ออ้างที่วนอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนไปไกลกว่าเดิม บอกว่าการรัฐประหารต้องเกิดขึ้นเพราะคนไทยไม่รู้จักประชาธิปไตยดีพอ เพราะปกครองกันเองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ต้องให้ทหารเข้ามาจัดตั้งรูปแบบการปกครองให้ใหม่ทุกครั้งไป ความเชื่อแบบนี้เป็นมายาคติที่ทำให้เรามีความรู้สึกว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องปกติ จะเกิดขึ้นอีกสักครั้งก็ไม่เป็นไร เอาเข้าจริงวงจรอุบาวท์ที่หมุนเวียนกันไป 88 ปี ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง เป็นการตัดตอนพัฒนาการของประชาธิปไตย
"การรัฐประหารส่งผลร้ายในระยะยาว นี่คือการสถาปนาระบบที่ให้ทหารเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในทางการเมือง ให้รัฐไทยเป็นรัฐทหารมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้ทหารได้เข้ามาปกครองประเทศ ซึ่งประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยจะยอมไม่ได้เด็ดขาด ประการต่อมา เวลารัฐประหารอยู่ในอำนาจยาวนาน แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสร้างความเหลื่อมล้ำ เราสามารถเห็นได้เลยว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้รับผลประโยชน์เป็นจำนวนมากจากการรัฐประหารครั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่ตกอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ยังไม่นับการออกกฎหมายกติกาต่างๆ ยกเว้นให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่" นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า ข้ออ้างว่า การรัฐประหารเข้ามาปราบคอร์รัปชันปราบโกง แต่ในท้ายที่สุดกี่ชุดที่เข้ามา เมื่อจากไปก็จะมีปัญหาเรื่องของคอร์รัปชัน เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อถึงแก่อนิจกรรมเกิดการฟ้องร้องคดีความเต็มไปหมดระหว่างภรรยาคนต่างๆ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่ออกจากตำแหน่งก็ถูกยึดทรัพย์ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เมื่อออกจากตำแหน่ง ภรรยาฟ้องร้องเรียกมรดกกันจึงทำให้รู้ว่ามีทรัพย์สินมหาศาล ครั้งนี้ก็เช่นกัน เชื่อเถอะว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราจะเห็นว่าการยึดอำนาจไม่ได้เป็นเครื่องมือในการปราบโกง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คณะนายทหารกลุ่มหนึ่งเข้ามาครองอำนาจ ทุจริตคอร์รัปชัน ใช้ผลประโยชน์ มีผลประโยชน์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่ว่าปราบโกงนั้น ในท้ายที่สุดก็จะปราบไม่สำเร็จ และจะได้การคอร์รัปชันในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้
"รัฐประหารยังสร้างความขัดแย้งร้าวลึกลงไปมากกว่าเดิม ในอดีตที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าการรัฐประหารสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ผลักดันให้คนออกจากการต่อสู้ทางการเมืองในระบบปกติไปอยู่ในป่า ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งๆ ที่เดิมทีอาจจะไม่ศรัทธาก็ได้ ครั้งนี้เช่นเดียวกัน การรัฐประหารทำให้เกิดผู้ลี้ภัยทางการเมืองหนีออกนอกประเทศจำนวนมาก แน่นอนว่าโดยผิวเผินแล้วนี่คือความสงบ แต่ในความคิดของผู้คนก็ยังคงแตกแยกอยู่เช่นเดิม และจะยิ่งลงไปลึกขึ้น เพราะเขาไม่มีโอกาสที่จะได้แสดงออกต่อผู้มีอำนาจ มีการใช้กำลังเข้าห้าม ปราบปราม จำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองแบบใหม่ๆ ให้เลย" นายปิยบุตร กล่าว
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เราจะจัดการตัดวงจรรัฐประหารออกไปจากประเทศไทยได้อย่างไร ในเมื่อการรัฐประหารเป็นการตัดตอนพัฒนาการประชาธิปไตย ทุกครั้งที่ประชาธิปไตยเริ่มเดินหน้า ประชาชนตื่นรู้มากขึ้น ประชาชนรู้ว่าเสียงของเขามีความหมาย เริ่มเรียกร้องอะไรต่างๆ จากรัฐ ประชาชนรู้แล้วว่ามีอำนาจ ก็จะมีการตัดตอนบอนไซพัฒนาการแบบนี้อยู่ร่ำไป ซึ่งเอาจริงๆ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่ประชาชนคนไทยไม่จักรู้ประชาธิปไตย แต่เพราะประชาชนคนไทยรู้จักประชาธิปไตย เห็นคุณค่าประชาธิปไตย เชื่อมั่นในอำนาจของประชาชน ว่ากำหนดชะตากรรมประเทศได้ เพราะเป็นแบบนี้ ผู้มีอำนาจถึงไม่ยอมปล่อยให้ประชาธิปไตยเดินต่อ และเลือกที่จะใช้อาวุธสุดท้ายคือการรัฐประหารเพื่อตัดตอนประชาธิปไตย
"ถามว่าเราจะหาทางป้องกันมันได้อย่างไร ญัตตินี้ เราเสนอเข้ามาก็มีเพื่อนๆ หลายคนมาบอกว่าเพ้อฝัน เป็นญัตติที่อุดมคติ เพราะในท้ายที่สุดจะป้องกันให้ตายอย่างไรมันก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี แต่ตนคิดว่าญัตตินี้เป็นเรื่องสำคัญ จะเพ้อฝันหรือไม่ก็ตาม จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนี่จะเป็นโอกาสที่เราจะได้พูดคุยกันเรื่องรัฐประหารในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางป้องกันมัน" นายปิยบุตร กล่าว