สัญญาณเตือนแล้ว
ไม่ใช่ฝ่ายค้าน ฝ่ายตรงข้ามที่ให้ความเห็นหรือแสดงวาทกรรมทางการเมืองต่อรัฐบาลอันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
แต่เป็นความเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศที่สำนักซุปเปอร์โพลที่มีนายนพดล กรรณิกา เป็นผู้อำนวยการได้สำรวจความเห็นมาอย่างต่อเนื่อง
ว่าไปแล้วโพลสำนักนี้ผลสำรวจออกมาเมื่อใดเป็นผลดีต่อรัฐบาลมาตลอดจนชวนให้สงสัยกันไปต่างๆนานา
ทำนองว่ามาจากสำนักทำเนียบรัฐบาลหรือเปล่า?
ก็แค่ชวนให้ “ปุจฉา” หาใช่กล่าวหาไม่?
ทว่าล่าสุดผู้อำนวยการสำนักนี้ได้ออกมาเปิดเผยว่า พบตัวเลขและแนวโน้มของกลุ่ม “พลังเงียบ” ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
จากช่วงหลังการเลือกตั้งอยู่ที่ 56.1% นับแต่ช่วงเดือน เม.ย.62 ลดลงมาเหลือ 55.5% เดือน ก.ค.62 ลดลงมาเหลือ 46.0% เดือน ก.ย.62 ลดลงเหลือ 43.7% เดือน พ.ย.62 กลับมาที่ 49%
แต่เริ่มต้นปี 63 เดือน ม.ค. กลับตกลงมาเหลือแค่ 29.4%
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า “พลังเงียบ” มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากที่สุดหันไปสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล 36.6% ยังสนับสนุนรัฐบาล 34.0%
ปัจจัยที่ยังสนับสนุนรัฐบาลก็เพราะไม่ชอบฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอยู่แล้ว อีกทั้งยังชื่นชอบนโยบายประชารัฐ เช่น บัตรสวัสดิการรัฐ ชิม ช้อป ใช้
สรุปก็คือสถานการณ์ที่เรียกว่า “พลังเงียบเปลี่ยนไป”
เป็นความจริงทางการเมืองที่ให้ภาพความเป็นไปด้วยความเห็นของประชาชนหาใช่ว่าคิดเองปั้นแต่งเองไม่
วันนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาต่างๆเกิดขึ้นหลายเรื่องหลายประเด็นถั่งโถมเข้าใส่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่กำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมประชาโลก
...
ทำท่าจะนำพาไปสู่สงครามใหญ่ที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นประเด็นอยู่ที่สหรัฐฯ-อิหร่านกำลังจะเป็นคู่กรณีตัวตั้ง
เมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐฯสั่งโจมตีเป้าหมายเป็นถึงผู้บัญชาการทหารของอิหร่านด้วยการสังหารจนเสียชีวิตด้วยโดรน
นั่นทำให้ผู้นำอิหร่านและชาวอิหร่านแสดงออกถึงความไม่พอใจด้วยการ “ชักธงแดง” ขึ้นเหนือประเทศ
เพื่อจะบอกว่าพร้อม “รบ” เริ่มด้วยการสั่งล่าหัว “ทรัมป์” ด้วยการลงขันของชาวอิหร่านเองไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในทุกอณูในพื้นที่ของโลกใบนี้
จีนก็เริ่มขยับหนุนอิหร่าน อังกฤษก็ออกตัวแรงหนุนสหรัฐฯ
แม้นักวิเคราะห์จะมองในแง่ดีว่ายังไม่ถึงขั้นเปิดฉากสงครามใหญ่ เพียงแค่ปะทะกันด้วยอาวุธชุดเล็กๆเท่านั้น
แต่ต้องไม่ลืมว่าอิหร่านนั้นถือว่าไม่ธรรมดามีศักยภาพ มีอาวุธนิวเคลียร์ที่มีการพัฒนาจนถึงระดับสู้กับประเทศมหาอำนาจได้อย่างไม่น้อยหน้า
จึงประเมินต่ำไม่ได้เป็นอันขาด
ที่สำคัญอิหร่านนั้นหาใช่ว่าจะโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่เมื่อสหรัฐฯมีพลพรรคสนับสนุน อิหร่านก็ยังมีประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ มีทั้งจีน มีทั้งรัสเซีย ถือหางอยู่ข้างหลัง
ประเทศเล็กอย่างไทยแม้จะอยู่ไกลจากสมรภูมิแต่คงมิอาจหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพราะประเทศไทยเคยมีประวัติเป็นพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งเข้ามาซ้อมมือกันมาแล้ว
ห่วงก็แต่ “ลุงตู่” ที่เจอ “ปีชง” เข้าไปมีทั้ง “ศึกนอก-ศึกใน” รุมเร้าไปหมด.
"สายล่อฟ้า"