ข้อเสนอของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงขณะนี้ ที่ว่าผู้นำเหล่าทัพไม่ควรเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง เพราะขัดหลักประชาธิปไตย น่าจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานกว่า 87 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องจากคณะราษฎรผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ
จึงไม่สามารถแยกข้าราชการออกจากการเมือง จนกระทั่งอีก 14 ปีต่อมา จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 แยกข้าราชการออกจากการเมืองเด็ดขาด ห้ามบรรดา ผบ.เหล่าทัพและข้าราชการอื่นๆควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งการเมืองอื่นๆ บทบัญญัตินี้ทำให้รัฐธรรมนูญอายุสั้น อยู่ได้แค่ 18 เดือน
รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจึงถูกคณะรัฐประหารฉีกทิ้ง และกลับไปสู่ระบอบการปกครองของข้าราชการ โดยข้าราชการ และเพื่อข้าราชการใหม่ ที่นักวิชาการเรียกว่า “อำมาตยาธิปไตย” จนประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ เป็นอันดับต้นๆของโลก ฉบับใดห้ามข้าราชการควบการเมือง จะอายุสั้น ฉบับใดให้ควบได้อายุยืน
ตัวอย่างเช่นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 หรือ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” 2502 ที่ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีสมาชิก 240 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เป็นนายทหารประจำการถึง 3 ใน 4 นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการ สืบทอดอำนาจได้นานเกือบ 20 ปี
เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยของนานาอารยประเทศเช่นถ้าผู้นำเหล่าทัพเป็น ส.ว. ก็เท่ากับเป็นนักการเมืองที่มีอาวุธในมือ แม้จะไม่ได้พกอาวุธเข้าสภา แต่มีอำนาจสั่งใช้อาวุธได้ อีกทั้งข้าราชการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล ถ้าเป็น ส.ว. จะมีอำนาจตรวจสอบและขี่คอรัฐบาลได้ ขัดต่อหลักการบริหารบ้านเมือง
...
ข้อเสนอของนายชวนเป็นประเด็นย่อยที่ซ่อนอยู่ในประเด็นใหญ่ นั่นก็คือบท เฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจคณะรัฐประหาร คสช. แต่งตั้ง 250 ส.ว. (ส่วนหนึ่งจาก 6 ผบ.เหล่าทัพ) เพื่อเป็นกลไกการสืบทอดอำนาจอย่างน้อย 8 ปี เพราะ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯนานถึง 5 ปี พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจึงขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ถ้าถูก ส.ว.แค่ 84 เสียงยับยั้ง ก็จะพังในทันที คล้ายกับ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. กลายเป็นอภิสิทธิ์ชน มีอำนาจเหนือกว่า ส.ส. 500 คน ที่มาจากเลือกตั้ง แต่หวังว่าคงจะไม่ถึงกับถือว่ารัฐธรรมนูญของข้าใครอย่าแตะ และถ้าไม่มีทางเลือกอื่น น่าจะให้ประชาชนทั้งประเทศออกเสียงประชามติ เห็นควรแก้หรือไม่.