รมว.เกษตรฯ สั่งลุยมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรให้ได้อีก 10% ลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้เพิ่ม แก้พิษเงินบาทแข็งค่า กระทบความเป็นอยู่เกษตรกร


นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2563 ได้กำหนดนโยบายปรับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารขึ้นอีก 10% จากการประเมินสถานการณ์ค่าเงินบาทพบว่า ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากปี 2562 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่กำไรน้อยลง ซึ่งการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้นทำได้ไม่ง่ายและต้องค่อยเป็นค่อยไป จึงต้องใช้กลยุทธ์อื่นคู่ขนานกันประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก คือ การลดต้นทุนการผลิต, การเพิ่มมูลค่าผลผลิต, การพัฒนาการขนส่ง, การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร และการหาตลาดและเพิ่มช่องทางการจำหน่าย

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนของทุกหน่วยงานของกระทรวงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center : NABC) เป็นฐานข้อมูลกลางของข่าวสารและองค์ความรู้ ซึ่งทั้งเกษตรกรและภาคเอกชนสามารถเข้าถึง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น

สำหรับนโยบายที่สำคัญที่ดำเนินการต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้วคือ “การตลาดนำการผลิต” โดยผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มการผลิตเป็นรูปแบบแปลงใหญ่และใช้กลไกสหกรณ์เพื่อให้สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตได้ในราคาต่ำลง เดินหน้าการทำปุ๋ยสั่งตัดซึ่งจะต้องวิเคราะห์สภาพดินแต่ละพื้นที่ แล้วใช้สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับชนิดพืชและให้ในเวลาที่เหมาะสม การพัฒนาเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นและคุณภาพผลผลิตสูงขึ้น จากนั้นส่งเสริมการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร

...

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาโลจิสติกส์เกษตรเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเกษตรให้ถึงผู้รับซื้อ ผู้บริโภคโดยเร็ว โดยที่สินค้ายังมีความสดใหม่ พร้อมกันนี้ได้ตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 ให้ครบ 77 จังหวัดโดยเร็ว เพื่อให้เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้การทำการเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นเกษตรประณีตและเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) ที่สำคัญอีกประการคือ หาตลาดใหม่ๆ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่ทันสมัย โดยเฉพาะทางออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้เป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรทั้งระบบ

นายเฉลิมชัย ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ได้มอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจทางการเกษตร (สศก.) คำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์จากทุกมาตรการที่กำหนดให้ พบว่าสามารถเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันได้ 10% จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นผลให้เศรษฐกิจชาติดีไปด้วย แก้ปัญหาผลตอบแทนจากการส่งออกที่ได้กำไรลดลงจากพิษเงินบาทแข็งค่าและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ทางด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สำหรับโครงการฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ นับเป็นการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ของกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นรูปธรรม และมีการขับเคลื่อนนำไปใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วน โดยจะบูรณาการฐานข้อมูลด้านการเกษตรของ สศก. ร่วมกับฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานภายนอกรวม 10 กระทรวง ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ภาคเกษตร ทั้งด้านเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้านสินค้า และด้านทรัพยากรเกษตร ซึ่งการดำเนินการจะจัดทำชุดข้อมูล (Datasets) ที่กำหนดหน่วยงานเจ้าของข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน และจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเกษตรกรในการดำเนินการด้านการเกษตรตั้งแต่ผลิตจนถึงขายผลผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่จะให้คำแนะนำแก้ไขปัญหา โดยข้อมูลดังกล่าวจะนำมาจัดเก็บเข้าสู่ฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ เพื่อการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และให้บริการข้อมูล Open Data และ Open API อย่างมีรอบด้านและมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ในระยะแรก จะเร่งผลักดันฐานข้อมูล พื้นฐานข้อมูลสินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง, ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งฐานข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร และมีแผนเปิด Open Data และ Open API ชุดข้อมูลสำคัญให้กับทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์ และเร่งสร้างเครือข่ายให้เจ้าหน้าที่และนักวิชาการด้านข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน เพื่อจัดทำข้อมูลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คาดว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยให้การคาดการณ์และพยากรณ์เตือนภัยภาคเกษตรมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นประโยชน์สำหรับการจัดทำนโยบายเกษตรในการบริหารจัดการและตัดสินใจในด้านการวางแผนการผลิตและการตลาด พร้อมทั้งบริการข้อมูลข่าวสารทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร.