“ชวน” นัดประชุมสภาฯ วันที่ 8-9 ม.ค. ถก พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 วาระ 2-3 เผยคณะกรรมาธิการชง 9 ข้อสังเกตงบกระทรวงกลาโหม เน้นสวัสดิการ-ซื้ออาวุธที่จำเป็น
เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2563 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุมสภาฯ ในวันที่ 8-9 ม.ค. ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้พิจารณาพร้อมจัดทำรายงานเสนอข้อสังเกตต่อการจัดสรรงบประมาณในภาพรวมและรายกระทรวง หนึ่งในนั้นคือกระทรวงกลาโหม โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีความคิดเห็นต่อการจัดทำงบประมาณของกระทรวงกลาโหมไว้ 9 ประการ ดังนี้
1. กระทรวงกลาโหม ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิการของทหารผ่านศึกและครอบครัวและทหารนอกประจำการที่รับการสงเคราะห์ทุกประเภท ตามสิทธิ์ที่ได้รับตามกฎหมาย
2. กระทรวงกลาโหม ควรให้ความสำคัญกับกำลังพลในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยควรใช้วิธีการรับสมัครแทนการเกณฑ์ทหาร ทำให้สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถและมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการกำลังพล เพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น ภัยคุกคามทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อยกระดับกองทัพให้มีสมรรถนะสูง (Smart Troops)
3. กระทรวงกลาโหม ควรกำหนดภารกิจด้านการปกป้องสถาบันหลักของชาติและเสริมสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เป็นภารกิจประจำของกระทรวงกลาโหม
4. ที่ผ่านมากองบัญชาการกองทัพไทยให้ความช่วยเหลือในการบรรเทาสาธารณภัยมาโดยตลอด ทั้งนี้ กองบัญชาการกองทัพไทยควรสนับสนุนภารกิจด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในเชิงบูรณาการร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลัก
...
5. กองบัญชาการกองทัพไทย ควรปรับปรุงหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนเป็นสงครามด้านเศรษฐกิจที่เน้นความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นหลัก
6. กองทัพอากาศ ควรทำหน้าที่ในการกำกับและกำหนดมาตรการควบคุมการใช้อากาศยานไร้คนขับให้ครอบคลุม โดยคำนึงถึงทั้งทางด้านความมั่นคงและสิทธิของประชาชน
7. การตั้งงบประมาณของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยเฉพาะด้านการวิจัยควรสอดคล้องกับความต้องการของกองทัพว่าต้องการให้สถาบันฯ วิจัยเรื่องใด เพื่อจะได้นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณและมีการนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตรงกับความต้องการของทุกเหล่าทัพ
8. ในคำขอรับงบประมาณเพื่อดำเนินภารกิจในโครงการที่เป็นประเด็นความอ่อนไหวทางสังคม ควรเป็นชื่อโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดความเห็นต่างและความขัดแย้งภายในสังคม
และ 9. กรณีการตั้งของบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณค่อนข้างสูง ควรจัดซื้อเพื่อความจำเป็นต่อภารกิจอย่างแท้จริง โดยต้องสามารถชี้แจงแสดงเหตุผลทำความเข้าใจต่อประชาชนได้.