1 มกราคม เริ่มต้นวันแรกของปฏิทิน ประเดิมศักราชใหม่ ทั่วโลกถือเอาเป็นวันเริ่มต้นการดำเนินชีวิตใหม่และกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวง
“ทีมการเมืองไทยรัฐ” จึงขอใช้โอกาสในวันเริ่มต้นปีใหม่ 2563 มองไปข้างหน้า ประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์แนวโน้มการเมืองที่จะเป็นไปใน 365 วันจากนี้
ปีที่บรรยากาศการเมืองอึมครึม พอๆกับสถานการณ์ม่านหมอกฝุ่นพิษ PM 2.5
หมอดู หมอเดา ซินแส นั่งทางนอก ส่องทางใน “เห็นนิมิตตรงหน้า” ฟันธงตรงกัน บ้านเมืองวุ่นวายแน่ ทั้งปมการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ผสมปนเปกันหมด
เอาเป็นว่า คนติดตามข่าวสารไม่ต้องพึ่งหมอดูก็พอมองสถานการณ์ออก
ประเดิมกันตั้งแต่ต้นปี ตามคิวโหมโรงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
กับยุทธการ “วิ่ง ไล่ ลุง” ที่นัดรวมพลกันวันที่ 12 มกราคม
เป็นอีเวนต์ผสมโรงกับยุทธศาสตร์ที่ “ไพร่ห้าพันล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศตีธงลากการเมืองลงถนน
อ้างโดน “คนคนนั้นสกัด” อับจนหนทางสู้เกมในสภา
และตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่เดาทางได้ เกมมวลชนสีส้มจะยกระดับขึ้นตามเงื่อนไขสถานการณ์คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ล้อไปกับปมคดีความส่วนตัวของนายธนาธร รวมไปถึงครอบครัวทั้งมารดาและภรรยาที่ยังติดเงี่ยงคดีอาญาปมหุ้นวี-ลัคฯ
เมื่อตัดสินใจลุยสู้แบบพร้อม “หักดิบ” ล้มเดิมพัน
...
“ธนาธร” เหลือทางแพร่งเดียวต้องไปให้สุด ตามเส้นทางย่ำรอยเดียวกับ “นายใหญ่” อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่ตัดสินใจใช้เกมมวลชนสู้กระบวนการยุติธรรม
คำตอบสุดท้าย ไม่มีแผ่นดินอยู่ กลับเมืองไทยไม่ได้
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ณ วันนี้ต้องยอมรับในพลังกองหนุนที่หนาแน่นพอตัว
ชื่อ “ธนาธร” ย่อมทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไม่ธรรมดา
สถานการณ์ของรัฐบาลภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ถูกเปรียบเป็นรัฐบาลผสม “เรือเหล็ก”
แฝง “สนิมเนื้อใน” แทรกอยู่หลายจุด
โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่ต้องแบ่งกระทรวงเกรดเอสำคัญให้กับพรรคประชาธิปัตย์ดูแลกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรคภูมิไทยคุมกระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ขณะที่พรรคแกนนำอย่างทีมพลังประชารัฐได้คุมแค่กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน
นั่นทำให้ “บิ๊กตู่” ต้องรับบทกัปตันทีมเศรษฐกิจด้วยตัวเอง
ตามสภาพการณ์เชิงบริหารที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มือเศรษฐกิจสำคัญของ “บิ๊กตู่” ไม่สามารถสั่งการข้ามพรรค ข้ามกระทรวงได้เหมือนรัฐบาล “ประยุทธ์ภาคแรก”
นั่นทำให้ตกอยู่สภาพอาณาจักรใครอาณาจักรมัน
ต่างพรรคต่างมุ่งเป้าการเมือง สะสมเสบียง ตุนเสียงเลือกตั้ง
ในจังหวะสถานการณ์เศรษฐกิจที่เจอแรงกระแทกหนักจากภาวะสงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีน การส่งออกของไทยที่เป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจสะดุดอย่างแรง ขณะที่การขับเคลื่อนเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในก็หยุดชะงักจากการดึงเกมตีเมืองขึ้น
เหลือแค่ “เศรษฐกิจขาเดียว” ผ่านกระทรวงการคลัง อัดมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 1 เฟส 2 เฟส 3
ตามอาการทีมเศรษฐกิจไปคนละทาง เข้าทางเกมแห่อุปาทานหมู่ของฝ่ายค้าน รุมโห่ฮา เขย่าฝีมือการบริหารของรัฐบาลผสม “ประยุทธ์ภาคสอง”
กระแสไหลเข้าปม “ปากท้อง” อันตรายกับสุขภาพรัฐบาล
สถานการณ์โยงต่อเนื่องกับเกมในสภา ตามสภาพรัฐบาลผสม 18 พรรค “เสียงปริ่มน้ำ” ที่เต็มไปด้วยลิงหิวกล้วยตลอดเวลา งูเห่าเลื้อยกันเพ่นพ่าน
ต้องเฝ้าหน้างาน ล็อกเสียงกันเป็นจ๊อบๆเลย
แถมต้องระแวงเกมเขี้ยวของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองอย่างทีมประชาธิปัตย์ที่แฝงอารมณ์แค้นทีมพลังประชารัฐที่เจาะฐานเสียงปักษ์ใต้ ทำกรุงเทพฯสูญพันธุ์ แฝงอาการชิงชัง “บิ๊กตู่” สืบทอดอำนาจ
แต่เกาะขารัฐบาล อาศัยตุนแต้มเลือกตั้ง แอบเจาะยางไปพลาง
ตามสภาพรัฐบาลเรือเหล็กแฝงสนิมเนื้อใน กัปตันอย่าง “บิ๊กตู่” มีลุ้นเสียวชนหินโสโครกได้ทุกจังหวะ
ประชุมสภาทุกช็อตต้องล็อกเสียง ส.ส.จนแทบเข้าห้องน้ำไม่ได้
และตามคิวสำคัญที่รัฐบาลต้องเผชิญเกมร้อนในสภา ไล่ตั้งแต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระสองและสาม
เดิมพันกฎหมายการเงิน ถ้าไม่ผ่านโหวต นายกฯต้องลาออก
รัฐบาลต้องล่มโดยอัตโนมัติ
แต่โดยธรรมชาติของนักเลือกตั้งอาชีพทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็มีสัญชาตญาณหิวงบประมาณ ต้องการใช้เงินในการบริหารฐานเสียงในพื้นที่
มันจึงไม่น่าห่วง งบประมาณน่าจะผ่านสภาต้นเดือนกุมภาพันธ์
ขณะที่คิวสำคัญที่จะเดินหน้าต่อเนื่องคู่ขนานในสภานั่นคือการทำงานของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการขยายกระแสออกไปสู่สังคม
แถมยังติดลูกกั๊ก โดยเฉพาะในพรรคร่วมรัฐบาลที่ทีมพลังประชารัฐไม่ยอมให้ประชาธิปัตย์ขี่คอตีกิน
เกมรื้อรัฐธรรมนูญจะมัน ตอนโหวตที่รัฐบาลเสียงแตกแน่
และที่จะแทรกคิวมาคั่นรายการก็คือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่พรรคเพื่อไทย โดย “เซอร์เหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตดาวสภาจอมเก๋า รับสมอ้างคำสั่งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ
ประกาศฤกษ์มรณะวันที่ 6 มกราคม ยื่นญัตติล็อกเป้าเชือด 4 ราย ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ
ตามรายชื่อนอกจาก “บิ๊กตู่” ที่โดนถล่มตามสถานะแม่ทัพใหญ่
“สมคิด” กับ “วิษณุ” น่าจะเป็นอาการแฝงแค้น “นายใหญ่” เช็กบิลพวกแปรพักตร์
หลอกด่าให้ช้ำ ดิสเครดิตขาค้ำยัน พล.อ.ประยุทธ์ “เขี่ยลูก” เข้าเหลี่ยมเกมหักหลังในพรรคร่วมรัฐบาล
ลุ้น “แต้มหาย” เพราะลูกหมั่นไส้ส่วนตัว
และตามจังหวะสถานการณ์ต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจและ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตามสัญญาณที่ พล.อ.ประยุทธ์แบไต๋ตรงกับฤกษ์ “โหรท็อปบูต” นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ
การปรับ ครม.จะเกิดขึ้นประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน
พรรคร่วมรัฐบาลที่ทำตัวเป็นปัญหาจะถูกเขี่ยออก พรรคที่ประกาศหัวเด็ดตีนขาดจะไม่มีทางร่วมงานกันได้ อาจจะหันมาจับมือกันเพื่อทำให้ประเทศเดินหน้า
ประกอบกับคิวลุ้นยุบพรรคอนาคตใหม่ เสียงในสภากระเพื่อมใหญ่
ลุ้นเซอร์ไพรส์ “สลับขั้ว” ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองไทย
ไฟต์บังคับ พล.อ.ประยุทธ์ต้องยกระดับการบริหารเนื้องานด้านเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็ต่อยอดจากที่รัฐบาล “ประยุทธ์ภาคแรก” ได้วางมาตรฐาน ปักหมุดการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตรงนี้ถ้าไม่เดินหน้าต่อเท่ากับที่ผ่านมา “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิง
การเมืองระดับชาติรัฐบาลกับฝ่ายค้านปั่นเดิมพันเกมยึดเมือง มีโอกาสสูงที่จะเกิดม็อบผสมโรง
ขณะที่การเมืองท้องถิ่นก็ถึงจังหวะกลับเข้าโหมดเลือกตั้ง โดยโฟกัสไปที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เริ่มออกตัวกันไปก่อนแล้วก็คือ “รัฐมนตรีแกร่งสุดในปฐพี” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศลงในนามอิสระ
แต่ยังไม่พ้นถูกดักเหลี่ยมเป็นแค่เกมสับขาหลอก เรียกแต้มจากพวกชอบ “ชัชชาติ” แต่ไม่เอา “ทักษิณ”
ส่วนพรรคอื่นยังคุมเชิง แชมป์เก่าอย่างประชาธิปัตย์อยู่ในห้วงกระแสตก ส.ส.กทม.สูญพันธุ์ งานนี้วางตัวมวยสู้ลำบาก ตัวเต็งที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับ “ชัชชาติ” ได้ก็คือค่าย “พลังประชารัฐ”
อยู่ที่ว่าจะหาคนที่ใช่ในจังหวะตรงล็อกได้หรือไม่
ไม่ใช่แค่ในสนามผู้ว่าฯเมืองกรุงเท่านั้น ศึกชิงฐานการเมืองท้องถิ่นยังหมายรวมไปถึงการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายก อบจ. นายกเทศบาล นายก อบต. ทั่วประเทศ
ยุทธการยึดฐานเสียงที่โยงถึงการเมืองระดับชาติ
งานนี้คงได้ซัดกันฝุ่นตลบไม่มีใครยอมใคร แม้แต่ในพรรคเดียวกันแต่คนละพวก
ตามสภาพพรรคเพื่อไทยก็แตกกันเละไร้หัวตัวจริงในพลังประชารัฐก็แทงหลังชิงกันเป็นใหญ่
กระตุ้นอุณหภูมิการเมืองให้ร้อนฉ่าตั้งแต่ระดับชาติไปยันระดับท้องถิ่น
และโดยเงื่อนไขสถานการณ์บังคับ ถึงจังหวะเปลี่ยนผ่านอำนาจกองทัพ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ถึงคิวเกษียณเดือนตุลาคม 2563 นี้ ต้องเปลี่ยน “จ่าฝูง” กองทัพบกคนใหม่
ตามบทบาทการคุมเชิงให้รัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนไป
เมื่อ “น้องรัก” อย่าง “บิ๊กแดง” ที่คุมหลังให้ “พี่ตู่” ต้องพ้นอำนาจไป
มันก็เป็นอะไรที่การันตีไม่ได้ ถ้าม็อบการเมืองป่วนวุ่นวายจนเอาไม่อยู่ รัฐบาลไม่มีตัวช่วยคุมหลัง
คงต้องลุ้นเสียวเซอร์ไพรส์ “แอ่นแอ๊น”.
“ทีมการเมือง”