จับตาการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 11 ธ.ค.นี้ จะพิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของสำนักงาน กกต. กรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ให้พรรคกู้ยืมเงินของตนเอง จำนวน 191 ล้านบาท ตามคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา

  • การพิจารณามี 2 ประเด็น เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยได้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาท ต่อพรรคการเมืองต่อปีหรือไม่ มีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี และให้เงินทรัพย์สินส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทตกเป็นของกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง

  • รวมถึงการกู้เงินดังกล่าวถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ ตามมาตรา 62 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หาก กกต.เห็นว่ามีความผิดยุบพรรค จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อาจใช้เวลาไต่สวน 7-15 วัน ก่อนนัดวันอ่านคำวินิจฉัย

...

แนวทางคำวินิจฉัยของ กกต.จะเป็นอย่างไร? ทางด้าน "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ผ่าน ”ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” อย่างชัดเจนว่า น่าจะเป็นไปตามคาด ไม่พลิกโผ โดยแนวทางคำวินิจฉัยของ กกต. น่าจะเป็นไปได้ 2 แนวทาง 1.วินิจฉัยว่าสามารถทำได้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตกับพรรคการเมืองอื่นๆ ให้สามารถทำได้ ซึ่งยึดหลักการตีความตามรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองกู้ยืมเงิน เนื่องจากพรรคการเมืองไม่ใช่ภาครัฐ “ดังนั้นอะไรที่กฎหมายไม่ห้ามก็เท่ากับว่าทำได้”

ส่วนแนวทางที่ 2.อาจเป็นได้สูง วินิจฉัยว่าเป็นการครอบงำของกลุ่มทุน เพราะตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือกฎหมายประกอบอื่นๆ เกี่ยวกับพรรคการเมือง ปี 60 ได้จำกัดรายได้พรรคการเมืองไม่ให้เกินตามที่กำหนด เพราะฉะนั้นมีแนวโน้มสูงที่ กกต.จะวินิจฉัยตามแนวทางที่ 2 โดยให้น้ำหนักความเป็นไปได้ 60% ขึ้นไป มีแนวโน้มที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

นอกจากนี้ในแง่ความผิดตามมาตรา 62 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มีความเป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งพรรคการเมืองต้องมีรายได้อยู่ในกรอบของกฎหมาย เพื่อป้องกันนายทุนเข้ามามีอิทธิพล ทั้งนี้มองว่าพรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรภาครัฐ ในการจำกัดสิทธิพรรคการเมืองก็ไม่น่าทำได้ ยกตัวอย่างพรรคการเมืองในต่างประเทศ สามารถกู้เงินจากแบงก์ได้ ดังนั้นการวินิจฉัยตามาตรา 62 อย่าลืมหลักการสำคัญต้องดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบอื่นๆ ซึ่งมองว่าสามารถทำได้

“ไม่ใช่เฉพาะกรณีพรรคอนาคตใหม่ ต้องพิจารณาเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย เพราะในอนาคตการทำกิจกรรมทางการเมืองจะมีความซับซ้อนมากขึ้น มองว่าไม่ใช่เงินบริจาค แต่เป็นเงินกู้ การจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 66 ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง แต่จะเกี่ยวข้องกับมาตรา 62 เรื่องรายได้ของพรรค เพราะฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ต้องไปดูว่า กกต.จะวินิจฉัยอย่างไร เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ”

สำหรับชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ มองว่าโอกาสถูกยุบพรรคค่อนข้างสูง ตามกฎหมายพรรคการเมือง และเจอโทษอาญาตามมาตรา 122 ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือปรับวันละ 1 พันบาท ให้จับตาดูในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ว่าพรรคอนาคตใหม่จะเสี่ยงสูญพันธุ์สูงหรือไม่ โดยแนวโน้มไปทางลบมากกว่ารอด.