ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แสดงตนในที่ประชุม 261 เสียง สภาฯ ไม่ล่มซ้ำรอย พร้อมลงคะแนนแบบขานชื่อ วาระตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจาก คสช. - มาตรา 44 ฝ่ายค้านย้ำไม่อยู่ร่วม
วันที่ 4 ธ.ค. 2562 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เริ่มต้นขึ้นในช่วงบ่าย โดยช่วงแรกเปิดโอกาสให้ ส.ส. ปรึกษาหารือเรื่องปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดที่ ส.ส. แต่ละคนดูแล จากนั้นเป็นเรื่องกระทู้ถามสด และกระทู้ถามทั่วไป
กระทั่งเวลา 17.35 น. จึงเข้าสู่วาระตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งเป็นวาระต่อจากสัปดาห์ก่อนที่สภาฯ ล่ม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบและมีการสั่งปิดประชุมไป และปัจจุบันเหลือ ส.ส. 298 คน จึงต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 249 คน จากนั้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยพบว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้าประชุมสภาฯ เกือบครบทุกที่นั่ง
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นถามว่าฝ่ายรัฐบาลจะถอนมติดังกล่าวหรือไม่ เพื่อต้องการให้การทำงานเดินหน้าต่อไปได้ ทางด้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ยืนยันว่าไม่ถอนญัตตินี้ ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย ฝ่ายค้านขอไม่อยู่ร่วมลงคะแนนเป็นองค์ประชุมด้วย และคนที่จะมีสิทธิ์ลงคะแนนโดยขานชื่อคือคนที่อยู่ในองค์ประชุมวันนั้น ทางด้าน ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่เห็นด้วยเรื่องการลงคะแนนใหม่กับการนับคะแนนใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างกัน
ทั้งนี้ นายสุชาติ อ้างอิงถึงข้อบังคับในอดีตที่ผ่านมาก็ระบุว่าให้ลงคะแนนใหม่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายสิบปี ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า องค์ประชุมที่จะนับคะแนนใหม่โดยการขานชื่อ แต่องค์ประชุมควรเท่าวันแรกที่โหวต คือ 264 เสียง และเหตุที่ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์เกิดจากการไม่ยอมรับผลโหวตของฝ่ายรัฐบาล
...
ในที่สุด นายสุชาติ ก็ขอทำตามข้อบังคับที่มีมาหลายสิบปี และปฏิบัติตามนี้มาโดยตลอด ต้องเดินหน้าต่อโดยการลงมติใหม่ตามที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้วินิจฉัยไปแล้ว จากนั้น 18.08 น. ประธานในที่ประชุมกดออดให้ ส.ส. แสดงตน ภายหลังปิดการแสดงตนพบว่ามีองค์ประชุม 261 เสียง จึงสามารถลงมติต่อได้.