รองโฆษก พปชร. ชี้คำอุทธรณ์นอกศาลของ “ธนาธร” ปมหุ้นสื่อเบาหวิว ไร้ข้อมูลใหม่ ขาดน้ำหนักหักล้างคำวินิจฉัยศาล เปรียบ “วีลัค” ยังไม่จดทะเบียนเลิกพิมพ์ เหมือนคนไม่มีรถ แต่ยังมีใบขับขี่ มีโอกาสขับอีก 

วันที่ 3 ธ.ค. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ หรือ “อ้น” อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ อ้น-ทิพานัน ศิริชนะ I Onn Tipanan Sirichana ถึงกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ตั้งข้อสังเกตคำวินิจฉัยคดีวีลัคของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง “ความเบาหวิวเหลือทนของคำอุทธรณ์ฎีกานอกศาลของคุณธนาธร” ระบุว่า ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และพิจารณาถึงข้อความที่คุณธนาธรเขียนอธิบายข้อสังเกตแล้ว ตนเองจึงขอแสดงความคิดเห็นดังนี้

หากจะเทียบข้อสังเกตของคุณธนาธรเป็นคำอุทธรณ์ฎีกา (นอกศาล) นั้น ศาลคงไม่รับฟ้องอุทธรณ์ฎีกา เพราะไม่มีพยานหลักฐานใหม่มานำสืบพิสูจน์หักล้างให้น่าเชื่อได้ว่า คุณธนาธร โอนหุ้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 จริง ที่เขียนอธิบายมาใหม่จึงเบาบางเหลือเกิน มีแต่เรื่องเดิมที่ศาลพิจารณาไปแล้ว ประเด็นสำคัญคือ เอกสารหลักฐานต่างๆ ที่คุณธนาธรนำส่งศาลล้วนเป็นเอกสารภายในที่อาจทำย้อนหลังขึ้นเอง และพยานบุคคลต่างๆ ที่มาให้ถ้อยคำก็ล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดของคุณธนาธร ไม่มีพยานหลักฐานจากบุคคลภายนอกที่เป็นกลางมาสืบให้ศาลเชื่อว่าโอนหุ้นจริงในวันที่ 8 ม.ค. 62

...

“ถ้าเทียบกับเรื่อง Blind Trust ก็เป็นเรื่องบังเอิญที่น่าแปลก วันที่มีการลงนาม MOU มีการแถลงข่าวถ่ายรูป แต่กลับไม่ได้มีการโอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust จริง ในขณะที่วันที่ 8 ม.ค. 62 ที่คุณธนาธรอ้างว่าโอนหุ้นบริษัทวี-ลัคและบริษัทในเครือรวม 14 บริษัทจริง กลับไม่มีหลักฐานรูปถ่ายซักใบ” รองโฆษก พปชร. กล่าว...

ส่วนที่คุณธนาธรตั้งข้อสังเกตเรื่องอำนาจยื่นคำร้องของ กกต. และอำนาจพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ กกต. ไว้พิจารณาเป็นการตรวจสอบ “คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.” และการตรวจสอบ “คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.” มาปะปนกันนั้น การตั้งประเด็นแบบนี้ก็น่าคิดเหมือนกันว่าคล้ายๆ คุณธนาธรเองจะยอมรับกลายๆ ว่า “ณ วันที่ 6 ก.พ. 62 ที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. คุณธนาธรขาดคุณสมบัติเพราะยังถือหุ้นวีลัคอยู่ แต่วันที่ 24 มี.ค. 62 ที่เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. นั้นคุณธนาธรมีคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ครบถ้วนเพราะได้โอนหุ้นวีลัคไปแล้ว”

ทั้งนี้ศาลไม่ได้ตรวจสอบปะปนกัน เพราะศาลได้วินิจฉัยตามคำร้องขอของ กกต. ที่ขอให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของคุณธนาธร สิ้นสุดลงตาม รธน. มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ซึ่งมาตรา 101 (6) บัญญัติว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98” ดังนั้นจึงชัดเจนว่า “การมีลักษณะต้องห้ามในฐานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง นั้นเป็นลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย” ศาลไม่ได้ตีความเกินเลยแต่อย่างใด เป็นไปตามคำร้องขอของ กกต.และตัวบทกฎหมายชัดเจน

ส่วนที่คุณธนาธรระบุว่า เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องเป็นกรณีที่สื่อเช่นว่านั้นยังคงประกอบกิจการอยู่เท่านั้น ในกรณีนี้ศาลเห็นว่า แม้บริษัทวีลัคจะหยุดพิมพ์แล้ว ไม่มีพนักงานแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท และยังไม่ได้แจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ตามมาตรา 18 พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ดังนั้นจึงยังถือเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ เพราะสามารถจะกลับมาดำเนินกิจการประกอบการพิมพ์เมื่อใดก็ได้

กรณีนี้สามารถเทียบเคียงได้กับคุณทวีป ขวัญบุรี ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกศาลฎีกาตัดสิทธิ์การเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพราะยังไม่ได้จดแจ้งยกเลิกแบบเดียวกับคุณธนาธร แม้ว่าจะหยุดพิมพ์หนังสือกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม

ทั้งนี้การมีใบอนุญาตฯ อยู่ทำให้เจ้าของใบอนุญาตมีความสามารถตามกฎหมายพิมพ์อะไร พิมพ์เมื่อใดก็ได้ ซึ่งหากบริษัทวีลัคประสงค์จะเลิกกิจการสื่อและหยุดพิมพ์สิ่งพิมพ์ใดๆ เหตุใดจึงไม่แจ้งยกเลิกตามมาตรา 18 พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งจะเป็นระยะเวลาก่อนวันที่ 30 ธ.ค.62 (คำนวณจากกำหนด 30 วันหลังจากวันสุดท้ายที่พิมพ์นิตยสาร JIBjib เล่มสุดท้าย คือ วันที่ 30 พ.ย. 61)

“ลองนึกภาพ หากเราต้องการป้องกันอันตรายในการขับขี่รถยนต์ของบุคคลไร้ความสามารถ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยทั้งตัวผู้ขับขี่เองและผู้อื่น เราคงไม่ทำแค่ริบรถ ริบกุญแจรถ แต่เราคงทำถึงการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของเขา เพราะแค่เขาไม่มีรถ เขายังสามารถใช้ถนน ขับขี่รถโดยถูกกฎหมายได้โดยอาจยืม/เช่ารถคนอื่นมาขับเมื่อใดก็ได้ เพราะเขายังมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อยู่ แล้วแบบนี้เขาและผู้อื่นก็ยังมีโอกาสได้รับอันตรายได้”

ทั้งนี้ก่อนทำการตั้งข้อสังเกต คุณธนาธรควรกลับไปทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างของหลักการพิจารณาคดีแบบกล่าวหา กับแบบไต่สวนให้ถ่องแท้และไม่ใช้สับสน รวมถึงศึกษาวิธีการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีวิธีการเฉพาะ มีบัญญัติไว้ในชัดเจนใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562

“ข้อสังเกตของอ้นคือ คุณธนาธรมีความถนัดในการตั้งข้อสังเกตหรือข้อวิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ฝ่ายเดียว คุณธนาธรมักร้องขอโอกาสแต่เมื่อมีโอกาสกลับไม่ใช้มัน คุณธนาธรร้องขอให้ศาลนัดไต่สวนพยานบุคคล และศาลก็ได้ให้โอกาสและให้เวลาเตรียมตัวล่วงหน้า แต่เมื่อถึงวันไต่สวนพยาน ในเวลาที่คุณธนาธรมีโอกาสที่จะนำเสนอข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองนั้น คุณธนาธรกลับจำข้อมูลไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ”

นอกจากนี้ ล่าสุดที่คุณธนาธรมีความพยายามที่จะเข้ามาใน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และเมื่อได้มีโอกาสเข้ามาแล้ว คุณธนาธรก็ชิงลาออกกลางครัน ซึ่งหากจะอดทนและตั้งใจ ไม่รีบด่วนลาออก ก็เชื่อว่าคุณธนาธรจะได้ข้อมูลจาก กมธ.ชุดดังกล่าว เช่น งบประมาณของทหารที่มีรายละเอียดครบถ้วน ผ่านการอภิปราย โต้แย้งด้วยเหตุผล มีการชี้แจงข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้คุณธนาธรสามารถมาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ถูกต้องชัดเจนมากกว่าการแสดงความเห็น วิจารณ์งบดังกล่าวจากข้อมูลที่ทำความเข้าใจอยู่คนเดียว

#FAREwell #โชคดีในการเดินทาง