“จาตุรนต์” แนะ แก้ปัญหาสภาฯล้ม ยอมตั้ง กมธ.ศึกษา ม.44 บอกรัฐบาลต้องปรับการทำงานใหม่ แค่นัด "มีตติ้ง" ไม่พอ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจเสียหาย ประเทศต้องการอะไรมากกว่านั้น 

วันที่ 1 ธ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ และอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ให้สัมภาษณ์กรณีที่สภาฯล้มในการพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบคำสั่ง มาตรา 44 ว่า สาเหตุหลักมีอยู่ 2 อย่าง คือ รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลไม่ต้องการให้มีการตั้งกรรมาธิการดังกล่าวขึ้น แต่เสียงไม่เพียงพอ เมื่อแพ้แล้วพยายามนับคะแนนใหม่ ฝ่ายค้านก็ไม่เข้าร่วมประชุม ถ้ารัฐบาลมาประชุมบ้าง ไม่มาประชุมบ้างเช่นนี้ ก็ไม่สามารถประชุมสภาฯได้อีกระยะหนึ่ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาฯ ซึ่งนำไปสู่สาเหตุที่ 2 คือ อาจเป็นความตั้งใจของผู้มีอำนาจของรัฐบาล ที่ต้องการทำให้ภาพพจน์สภาฯเสียหาย ทำให้เห็นว่า ระบบทำไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วการประชุมสภาฯได้หรือไม่ เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ทั้งนายกฯ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ให้สภาฯล้มอีก คือ รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้มีการตั้งกรรมาธิการดังกล่าวขึ้น เพราะเรื่องนี้มีความเสียหายหลายด้าน เพราะคำสั่งมันมีสภานะเป็นกฎหมายทำให้กฎหมายปกติมีปัญหาทางปฏิบัติมากจึงต้องศึกษาแก้ปัญหาร่วมกัน

นายจาตุรนต์ กล่าวถึงส่วนความขัดแย้งรอยร้าวในรัฐบาลที่เกิดขึ้นว่า ปัญหาสำคัญมาจากพรรคร่วม ที่ต่างฝ่ายต่างชิงดีชิงเด่น ทำในสิ่งที่ได้คะแนนเข้าพรรคตัวเอง ในขณะที่นายกฯ ไม่มีความเข้าใจในการทำงานกับพรรคร่วม ที่เป็นห่วงกันว่า รัฐบาลจะล้มนั้น ไม่น่าห่วงหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ยังคุม ส.ว.ได้ ก็ไม่มีใครทำอะไร พล.อ.ประยุทธ์ ได้ ถึงอย่างไรก็กลับมาเป็นนายกฯ ได้อยู่ดี แต่ปัญหาคือ การขาดการนำที่ดีเป็นผลเสียงต่อประเทศ เช่น การแบนสารพิษอันตราย ก็ขาดการเตรียมการล่วงหน้า พอมายกเลิกการแบนก็ไปคนละทิศคนละทาง และนายกฯก็ทำอะไรไม่ได้เลย อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่แต่ละกระทรวงไปคนละทิศละทาง มาตรการของกระทรวงการคลังก็แจกแล้วแจกอีก ไม่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตการจ้างงาน กระทรวงคลัง กับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯก็ทำกันไป เป็นมาตรการกระทรวงการคลังขาเดียว ทั้งที่กระทรวงการคลัง ต้องดูมาตรการการคลังที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงหลักๆ ทั้งหลายด้วย ดังนั้น นายกฯต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงกระทรวงด้านเศรษฐกิจทั้งหมดเพื่อวางระบบใหม่ให้ประสานเชื่อมโยงกัน ซึ่งถือว่ายากแต่ต้องรีบทำไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหาย พล.อ.ประยุทธ์ ต้องปรับการทำงานใหม่หมด ถ้ารับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจไม่ไหว ก็ให้คนอื่นทำแทน แล้วมีอำนาจสั่งทุกกระทรวงได้จะเป็นการผ่อนหนักเป็นเบา การจะนัดมีตติ้งพรรคร่วมฯยังไม่เพียงพอเพราะเวลานี้เศรษฐกิจเสียหายยับเยินต้องการอะไรมากกว่านั้น.

...