เป็นเจ้าภาพร่วมกันปี 2034 เสรีฯ สั่งสอนสิระอย่ากร่าง เต้ตั้งตัวเป็นผู้นำค้านอิสระ
เวทีอาเซียนซัมมิต 2019 เริ่มขึ้นแล้ว ผู้นำชาติสมาชิกและประเทศคู่เจรจาเข้าร่วมคึกคัก “บิ๊กตู่” โชว์วิชันต่อหน้านักธุรกิจอาเซียนบนเวที ABIS 2019 ปลุกทุกชาติต้องพร้อมเข้าสู่โลกดิจิทัล แข่งขันกันได้แต่ต้องทำเพื่อทุกคน ในประชาคม จับเข่าถก “กุแตเรช” ไทยพร้อมมีส่วนร่วมกับยูเอ็น “สมคิด” ขอญี่ปุ่นช่วยดัน RCEP “ดิสทัต” ลั่นประชุมอาเซียนสำคัญกว่าเรื่องอื่น “วันนอร์” ฉะ ปธ.วิปรัฐบาลจ้องปิดปากฝ่ายค้านซักฟอก “สุทิน” ฟุ้งข้อมูลเด็ดทำรัฐบาลถึงช็อกแน่ “เจ๊หน่อย” ขู่ถล่มปมโกง-บริหารไร้น้ำยา “ธนาธร” ลุยแหลกต้องแก้ รธน.ฉบับอำนาจเหนือเลือกตั้ง ต้องคิดทะเยอทะยานเพื่อคนรุ่นต่อไป “จุรินทร์” ย้ำขอสะเดาะกุญแจด่านแรกแก้ไข รธน. เป็นฉันทามติพรรคร่วมรัฐบาล “เต้” ไม่เข็ดตั้งตนผู้นำฝ่ายค้านอิสระ
วาระสำคัญของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.เริ่มขึ้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานอาเซียน ขึ้นโชว์วิชันกล่าวเปิดงาน ASEAN Business and Investment Summit 2019 (ABIS 2019)
...
“บิ๊กตู่” โชว์วิชันนักธุรกิจอาเซียน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 พ.ย. ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานอาเซียน กล่าวปาฐกถาพิเศษและเป็นประธานเปิดงาน ASEAN Business and Investment Summit 2019 (ABIS 2019) โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟัง 800 คน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้แก่ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เข้าร่วมรับฟัง 800 คน พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลแล้ว มีนวัตกรรมในโลกปัจจุบันเป็นตัวช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจเอกชนร่วมกันดำเนินการอยู่ขณะนี้ มีทั้งมิติด้านความมั่นคง สังคม และเศรษฐกิจ การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (พีพีพี) ถือว่ามีความโดดเด่นในขณะนี้
การผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ 4 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นแกนหลักขับเคลื่อน
ปลุกพร้อมเข้าสู่โลกดิจิทัล
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้จะสำเร็จไม่ได้หากขาดความร่วมมือจากภาคเอกชน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การเงิน และการธนาคาร โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ที่ความเชื่อมโยงเป็นไปอย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศสมาชิกอาเซียน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกประเทศจะต้องเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การเชื่อมโยงทางดิจิทัล การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับสังคมดิจิทัล และการส่งเสริมภาคธุรกิจ ซึ่งนักธุรกิจในอาเซียนนั้นแข่งขันกันได้ แต่ต้องมีเป้าหมายร่วมกันทำเพื่อประชาคมอาเซียนแห่งนี้
แข่งขันได้แต่ต้องทำเพื่อ ปชช.
นายกฯกล่าวทิ้งท้ายว่า หากกำหนดเป้าหมายไปคนละอันสองอันมันไปไม่ได้ ส่วนของธุรกิจก็เป็นเรื่องธุรกิจ การแข่งขันกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องมีส่วนร่วมทำเพื่อประชาชน เมื่อประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติก็ได้ประโยชน์ ธุรกิจเราก็เจริญเติบโต ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ต้องเคารพ เยียวยา มีหลักการ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยทุกคนทำความเข้าใจไปด้วยกันเพื่อเรียนรู้ว่ารัฐบาลเดินหน้าไปอย่างไร และรัฐบาลจะเรียนรู้ภาคธุรกิจเดินหน้าอย่างไร นำมาปรับเดินหน้าไปด้วยกัน เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงลำพัง ขอการประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างอาเซียนเข้มแข็ง
เน้นสินค้าจีไอเพิ่มมูลค่าส่งออก
จากนั้นนายกฯเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานภาคเอกชน อาทิ กระเป๋าที่ทำจากถุงปูนซีเมนต์ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี โดยนายกฯอยากให้รณรงค์ใช้กระเป๋าแบบนี้กันมากๆ รวมถึงได้ทดลองการยืนยันตัวตนด้วยการสแกนเส้นเลือดในฝ่ามือ (Palm Vein) ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่บูธธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อนชมนิทรรศการ “อาเซียน สไตล์” จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ ที่นำศิลปวัฒนธรรมไทย สินค้าหัตถกรรมจากภูมิภาคต่างๆของไทย สินค้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนมาแสดง โดยนายกฯอยากให้ไทยให้ความสำคัญสินค้าถิ่นกำเนิด (จีไอ) เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออก
ไทยพร้อมมีส่วนร่วมกับยูเอ็น
ต่อมาเวลา 15.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้พบหารือกับนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณนายอันโตนิอู กุแตเรช ที่เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10นี้ พร้อมยืนยันว่าไทยให้ความสำคัญกับการสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับกลุ่มภูมิภาคต่างๆ ยินดีเพิ่มบทบาท และมีส่วนร่วมในกรอบสหประชาชาติมากขึ้นในการจัดกิจกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้านเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวชื่นชมไทยและนายกฯที่มีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน และการแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นท้าทายในโลก ชื่นชมบทบาทไทยที่โดดเด่นในเรื่องการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ พร้อมขอให้ไทยช่วยเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ในตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ย้ำนโยบายของไทย ที่สอดคล้องกับแนวทางความร่วมมือกับสหประชาชาติ อาทิ การแก้ไขปัญหาการประมง IUU การต่อต้านการค้ามนุษย์ และยินดีสนับสนุนคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และทีมงานสหประชาชาติในการจัดงานครบรอบ 75 ปี ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เห็นพ้องแก้ปัญหาใต้อย่างสันติ
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับนายมหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด นายกฯมาเลเซีย โดยนายกฯขอบคุณมาเลเซียที่เชิญหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ไปพบปะหารือ และสนับสนุนความพยายามของไทยในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้โดยสันติวิธี โดยนายกฯมาเลเซียกล่าวย้ำถึงการสนับสนุนการแก้ปัญหาของไทย และเห็นพ้องว่าแบ่งแยกดินแดนจะต้องไม่เกิดขึ้น พร้อมทั้งแสดงความยินดีกับความสำเร็จการเป็นประธานอาเซียนของไทย และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเร่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานชายแดน ผลักดันการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางถนนข้ามพรมแดน รวมถึงการร่วมมือแก้ปัญหาลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายตามแนวชายแดน และปัญหาการจัดเก็บภาษี เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์หวังว่ามาเลเซียจะสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในภาคใต้ของไทย และเป็นปัจจัยสนับสนุนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ในมิติด้านเศรษฐกิจด้วย
ประชุมสุดยอดผู้นำเต็มคณะ
กระทั่งเวลา 17.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และผู้นำ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 แบบเต็มคณะ (Plenary) นายกฯกล่าวว่า เชื่อว่าความเป็นหุ้นส่วนและการเป็นมิตรกับประเทศต่างๆนอกภูมิภาคจะช่วยประชาคมอาเซียนให้ขับเคลื่อนแนวคิดหลักของอาเซียนเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ในโอกาสนี้มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง 3 ประเด็นที่อาเซียนควรร่วมกันผลักดัน 1.การส่งเสริมความมั่นคงที่ยั่งยืน เพื่อรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค 2.การเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ความตกลง RCEP คือหัวใจสำคัญจะช่วยรองรับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน เพิ่มประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน 3.การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ จัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการประมงไอยูยู การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ครอบคลุมทุกช่วงวัย
ชงช่วยแก้ปัญหามนุษยธรรมรัฐยะไข่
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อาเซียนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ต้องกระชับความร่วมมือกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาคอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อประโยชน์สูงสุด อาเซียนควรเตรียมความพร้อมให้ดีสำหรับการประชุมกับประเทศคู่เจรจาที่เกี่ยวข้อง และการประชุมสุดยอดอาเซียนสาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษครั้งที่ 3 ในปลายเดือน พ.ย.นี้ โดยตอนท้ายนายกฯเสนอความเห็นว่าอาเซียนควรมีบทบาทให้ความช่วยเหลือพม่าในการแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ ผ่านเลขาธิการอาเซียนร่วมมือกับมิตรประเทศที่พม่าสะดวกใจ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นเฉพาะ ขอบคุณการสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทย ส่งผลให้อาเซียนได้ต่อยอด
ลงเอ็มโอยูหนุนจัดบอลโลก 2034
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมผู้นำชาติสมาชิกทั้งหมดได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามเอ็มโอยู ระหว่างนายจันนี อินฟันติโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือประธานฟีฟ่า กับดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน เพื่อส่งเสริมฟุตบอลในอาเซียน และสนับสนุนความปรารถนาร่วมกันของอาเซียนที่จะเสนอตัวร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2034 โดยมีผู้นำอาเซียนเป็นสักขีพยาน โดยประธานฟีฟ่าได้มอบเสื้อกีฬาฟุตบอลสีน้ำเงิน สกรีนชื่อผู้นำแต่ละประเทศพร้อมหมายเลข โดยส่วนใหญ่ได้เบอร์ 9 รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ที่ได้เบอร์ 9 และมีผู้ที่ได้เบอร์ 10 คือนายโรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ สมเด็จพระราชาธิบดี ฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม ขณะที่นายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้เสื้อหมายเลข 21
จับมือเวียดนามดันการค้าทะลุเป้า
ต่อมาเวลา 19.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือกับนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยไทยพร้อมสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของเวียดนามในปี 2563 ขณะที่นายกฯเวียดนามกล่าวชื่นชมบทบาทการเป็นประธานอาเซียนของไทย ส่งผลให้อาเซียนมีพัฒนาการในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ทั้งไทยและเวียดนามหวังเพิ่มมูลค่าการค้าจะบรรลุเป้าหมาย 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี ค.ศ.2020 โดยผู้นำทั้งสองยินดีพร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ขอให้เวียดนามพิจารณาขยายเวลาข้อกำหนดการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ ที่อาจส่งผล กระทบต่อการนำเข้าชิ้นส่วนจากไทย และยืนยันกับเวียดนามว่าไทยยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาการประมง IUU เพื่อเป็นผลดีต่อการยกระดับมาตรฐานการประมงเวียดนาม
ผู้นำชาติสมาชิกทยอยถึงไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศวันแรกของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ใช้รูปแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ green meeting นอกเหนือจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย ลาว บรูไน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ยังมีผู้นำหรือผู้แทนจากประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ ประกอบด้วย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ 3 แห่ง คือ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เข้าร่วมประชุมในกรอบที่เกี่ยวข้องด้วย โดยตลอดทั้งวันนี้ มีผู้นำประเทศต่างๆทยอยเดินทางถึงประเทศไทย อาทิ นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ, นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา,นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์, นางคริสตินา จอร์เจียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
“ดอน” คุมถกการเมือง–มั่นคง
เมื่อเวลา 09.00 น. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ 20 ที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน รวมถึงความคืบหน้าแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.2025 (APSC Blueprint 2025 จากนั้นนายดอนเป็นประธานการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ 24 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ติดตามผลการดำเนินงานจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 และหารือเรื่องการเสริมสร้างประสิทธิภาพสำนักเลขาธิการอาเซียน การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ.2025 และวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติ
ยินดีบาห์เรนเป็นภาคีอาเซียน
ขณะที่ช่วงบ่าย นายดอน พร้อม รมว.ต่างประเทศ จากประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมในพิธีที่ เชค คาหลิด บิน อาเหม็ด บิน โมฮัมเหม็ด อัล คอลิฟะห์ รมว.ต่างประเทศ บาห์เรน และนาย Peter Schoof เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐเยอรมนีประจำอินโดนีเซีย อาเซียน และติมอร์เลสเตในฐานะผู้แทน รมว.ต่างประเทศเยอรมนี ลงนามภาคยานุวัติสารเข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) จากนั้นนายดอนได้พบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ รมว.ต่างประเทศ บาห์เรน พร้อมแสดงความยินดีที่บาห์เรนได้เข้าเป็นอัครภาคีของสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“สมคิด” ขอญี่ปุ่นช่วยดัน RCEP
ช่วงเช้าวันเดียวกันที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายฮิเดกิ มากิฮาระ รมช.เศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ได้พบหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายก รัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนไทยเพื่อร่วมการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นแผนความตกลงเกี่ยวกับเขตการค้าเสรี ระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 6 ชาติคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นายสมคิดกล่าวหลังการหารือว่า ได้ขอให้ญี่ปุ่นผลักดัน RCEP ให้คืบหน้าให้ได้ เพราะจวนจบแล้ว นายฮิเดกิจะเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างเอกชนไทย-ญี่ปุ่น ในด้านความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การลงทุนของสตาร์ตอัพ ภายใต้โครงการอินโนเวชาน โคลัมบัส ซึ่งกระทรวงเศรษฐกิจฯ ญี่ปุ่นดำเนินการในไทยเป็นแห่งแรก และจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 6 ฉบับ ระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และสตาร์ตอัพของไทยกับญี่ปุ่น เชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะต่อยอดไปสู่ความร่วมมือในอนาคต
“หลี่ เค่อเฉียง”ถึงเมืองไทย
ช่วงค่ำวันเดียวกัน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยให้การต้อนรับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ ห้องรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมต้อนรับด้วย
“ดิสทัต” ลั่นอาเซียนสำคัญที่สุด
ด้านนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ออกหนังสือเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นครั้งที่ 2 ให้ไปชี้แจงกรณีเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ขอให้ความสนใจกับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ก่อน เรื่องอื่นยังมีเวลายังไม่ทราบว่านายกฯจะไปชี้แจงด้วยตัวเอง หรือส่งหนังสือชี้แจงไป เอาไว้จะแจ้งให้ทราบ ขณะนี้การประชุมอาเซียนสำคัญกว่าเรื่องอื่น
ยอ “สมพงษ์” คุมเกมฝ่ายค้านดี
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า เท่าที่ทราบยังไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ต้องชื่นชมการทำงานของพรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน ที่ทำงานสร้างสรรค์เป็นฝ่ายค้านยุคใหม่ ฝ่ายค้านคงต้องดูข้อมูลว่ามีน้ำหนักหลักฐานเพียงพอสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้หรือไม่ หากข้อมูลไม่เพียงพอและไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน สู้ไม่ยื่นดีกว่า ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมชี้แจงทุกเรื่องที่ถูกอภิปราย มั่นใจว่าบริหารงานด้วยความโปร่งใส ยึดประโยชน์ประชาชนประเทศชาติเป็นหลัก แต่ยังนึกไม่ออกว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องอะไร ขณะที่แกนนำหลักอย่างพรรคอนาคตใหม่คงไม่ค่อยพร้อม เพราะต้องเอาเวลาไปแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค รวมถึงแก้ต่างในคดีต่างๆด้วย
“เทวัญ” รอฝ่ายค้านเคาะให้ชัด
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล กล่าวว่า ต้องรอให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน ยังไม่รู้จะยื่นจริงหรือเปล่า อาจไม่ยื่นก็ได้ แต่หากยื่นจริงเรื่องเวลาอภิปรายต้องไปตกลงกัน อย่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตอนแรกขอ 2 วัน ตอนหลังเป็น 3 วัน จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้ง 3 ฝ่ายตกลงกันถึงกรอบเวลาที่เหมาะสม และต้องดูว่าจะยื่นอภิปรายใครบ้าง ยังไม่ทราบว่าจะอภิปรายทั้งคณะ หรือเป็นรายบุคคล ต้องรอดูความชัดเจนของฝ่ายค้านก่อนถึงจะกำหนดเวลาที่เหมาะสมได้
“วันนอร์” ฉะประธานวิปรัฐบาล
ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวตามที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ตีกรอบเวลาให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียง 2 วันว่า เวลาการอภิปรายขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ และประเด็นสาระในการอภิปราย ถ้ายื่นอภิปรายรัฐมนตรี 4-5 คน ต้องใช้อย่างน้อย 2 วัน ถ้ายื่นอภิปรายนายกฯ คนเดียว เวลา 1 วันก็อาจไม่เพียงพอ อาจต้องใช้ 2 วันอยู่ดี ที่ผ่านมาไม่เคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งใดน้อยกว่า 3 วัน และประธานในที่ประชุมสามารถเร่งเวลาอภิปรายได้หากเห็นว่าพูดเนื้อหาซ้ำๆ แต่ตราบใดที่ยังอภิปรายไม่ครบถ้วน และประเด็นยังไม่จบ ฝ่ายรัฐบาลจะเสนอปิดการอภิปรายไม่ได้ ในส่วนของพรรคประชาชาติ จะเน้นเนื้อหาความด้อยประสิทธิภาพการบริหารโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ บุคลากรที่เข้ามาทำงานไร้ความรู้ความสามารถ ยืนยันว่าจะมีการอภิปรายก่อนสิ้นปีนี้แน่
“สุทิน” ฟุ้งมีข้อมูลทำรัฐบาลช็อก
นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การที่ประธานวิปรัฐบาลออกมาพูดว่าจะให้เวลาอภิปรายกี่วัน พูดตอนนี้ไม่ได้ ยังไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หากยื่นเป็นรายบุคคล จะยื่นกี่คน กี่ข้อหา ทำให้มอง เห็นเจตนาของรัฐบาลว่าเป็นการใช้เทคนิคเรื่องเวลามาบีบการทำงานของฝ่ายค้าน และรัฐบาลทำเช่นนี้ มาตลอด ยิ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจยิ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลวิตกเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย เพราะรู้ดีว่าล้มเหลวในการบริหารบ้านเมือง ยืนยันว่ามีข้อมูลความผิดที่เหนือความคาดหมายของรัฐบาล ทำให้ถึงกับช็อกแน่ และเราไม่หวังว่ามือในสภาฯจะล้มรัฐบาลได้ แต่มือนอกสภาฯต่างหากที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม บอกเลยว่ามือนอกสภาฯไม่ใช้ม็อบอย่างที่คิดแน่ การอภิปรายครั้งนี้อาจเป็นแค่การเปิดแผล แต่แผลจะมาเน่าข้างนอกสภาฯจนติดเชื้อ
ขู่ซักฟอกแน่ปมโกง–ไร้น้ำยา
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเตรียมข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะพิจารณายึดสาระเป็นหลัก โดยเฉพาะพฤติกรรมหรือการดำเนินการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแง่ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การคอร์รัปชันเชิงนโยบายเพื่อเอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันโครงการต่างๆที่ส่งผลเสียหายต่อประเทศ ส่วนจะอภิปรายเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว หรือนายกฯและรัฐมนตรีรายบุคคล หรือจะทั้งคณะ
จี้นายกฯรีบเคลียร์สหรัฐฯด่วน
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า ส่วนการที่สหรัฐอเมริการะงับจีเอสพีสินค้าไทย จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกโดยเฉพาะ ขณะนี้ส่งออกติดลบกว่าร้อยละ 3 แล้ว อาจส่งผลให้คนตกงานเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าปีหน้าจะมีคนตกงานสูงกว่า 500,000 คน รัฐบาลต้องเร่งเจรจาเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจส่งออก และต้องรู้ให้แน่ชัดว่าถูกตัดสิทธิเพราะเหตุใด หากเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานที่ยังไม่ได้มาตรฐาน รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าทำไม เพราะที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรการเด็ดขาดแบบทุบโต๊ะแก้ไขปัญหาแรงงาน จนกระทบธุรกิจประมงของไทยต้องเจ๊งอย่างหนักมาแล้ว แต่กลับมาถูกยกเลิกจีเอสพีด้วยเหตุผลเรื่องปัญหาแรงงานอีก นอกจากนี้รัฐบาลต้องเร่งเจรจาต่อรองในฐานะคู่ค้าที่มีความทัดเทียม โดยรักษาศักดิ์ศรีของประเทศ
“เสรีพิศุทธ์” เตือน “สิระ” อย่ากร่าง
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ขอลาออกจาก กมธ.เพราะอึดอัดใจที่มีการใช้ กมธ.เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายความน่าเชื่อถือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าการพิจารณาของ กมธ.เป็นไปตามขั้นตอนตามลำดับ เรื่องที่เข้าสู่วาระไม่ใช่ตั้งเรื่องแบบเจาะจง การเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มาชี้แจงไม่ได้ใช้อำนาจโดยพลการ นายพยมอยู่ในที่ประชุมตลอด หากไม่เห็นด้วยควรโต้แย้งตั้งแต่ก่อนลงมติ เชื่อว่าการลาออกของนายพยมน่าจะมาจากภาระงานใน กมธ.ที่มีข้อร้องเรียนทั้งเก่าใหม่เข้ามามาก นายพยมไม่มีความรู้ข้อกฎหมายจึงอึดอัดใจ ส่วนพรรคพลังประชารัฐจะส่งนายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. มาแทน ไม่มีปัญหา แต่เตือนว่าจะกร่างกับคนอื่นได้ แต่อย่ามากร่างกับตน
รธน.ฉบับอำนาจเหนือเลือกตั้ง
ที่โรงแรมชัยคณาธานี จ.พัทลุง เครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมจัดเวทีเสวนา “แก้ปัญหาปากท้องประชาชน ต้องแก้รัฐธรรมนูญ?” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในเวทีเสวนาว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา มีการใช้มาตรา 44 ไปลดค่าสัมปทานให้กับทุนคมนาคมแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซื้อเรือดำน้ำไป 3 หมื่นล้านบาท นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความจนหรือรวยในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องของบุญทำกรรมแต่ง เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ยังยากจนเป็นเพราะพวกเขาไม่มีอำนาจ สิ่งที่เรามาพูดกันวันนี้คือเรื่องของอำนาจที่จะเอางบจากภาษีประชาชนกว่า 3.2 ล้านล้านบาท จะเอาไปใช้เพื่อใคร ในข้อเท็จจริงมันถูกนำไปใช้ในสิ่งที่คนทั้งห้องนี้ไม่ได้เลือก คำตอบเพราะอำนาจไม่ได้อยู่ที่ประชาชน และรัฐธรรมนูญ 60 บอกว่าอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสูงส่งกว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง นี่คือรัฐธรรมนูญที่ไม่มีอำนาจของประชาชนอยู่ในนั้น คนที่มีอำนาจในปัจจุบันคือคนกลุ่มเดียวกับที่รัฐประหารปี 2557 มาจากระบบราชการ กลุ่มทุน ปืน และรถถัง พวกเขาจึงออกแบบงบประมาณไปอุ้มกลุ่มทุน หล่อเลี้ยงระบบราชการที่ใหญ่เทอะทะ
คิดทะเยอทะยานเพื่อคนรุ่นต่อไป
นายธนาธรกล่าวอีกว่า ถ้าเราอยากเห็นสังคมไทยเดินไปข้างหน้า โดยที่ดอกผลของการพัฒนาได้รับการแจกจ่ายอย่างถ้วนหน้า ถ้าเราอยากเห็นสังคมไทยอยู่ในโลกาภิวัตน์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ถ้าเราอยากเห็นงบประมาณถูกนำไปใช้เพื่อประชาชน ถ้าเราอยากเห็นสิ่งเหล่านี้เราต้องแก้รัฐธรรมนูญ นี่คือโจทย์ใหญ่ว่าตกลงอำนาจในประเทศนี้เป็นของใคร อำนาจในการจัดสรรงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ใครควรได้เป็นคนจัดสรร นี่คือเวลาที่เราต้องคิดอย่างทะเยอทะยานเพื่อคนรุ่นต่อไป เพื่อให้ปัญหานี้จบในคนรุ่นเรา ว่าอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรในประเทศนี้ควรอยู่ที่ประชาชน และเพื่อแก้ปัญหานี้เราต้องทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย ยุติระบบราชการรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง การลดบทบาทของกองทัพ มีแต่การทำ 3 อย่างนี้เท่านั้น ประเทศไทยถึงจะเดินไปข้างหน้าได้ จะทำอย่างนี้ได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าก้าวแรกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“จุรินทร์” ยันเดินหน้าแก้ไข รธน.
ที่อิมแพคเมืองทองธานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการบรรจุวาระพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์มีส่วนผลักดันตั้งแต่ต้น เป็นหนึ่งใน 3 เงื่อนไขที่กำหนดไว้ตอนเข้าร่วมรัฐบาล พรรคมีแนวทางชัดเจนว่าเราอยากเริ่มต้นที่หมวดว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญนี้ แก้ไขยากมาก อยากเริ่มที่การสะเดาะกุญแจให้เปิดประตูไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อน
เป็นฉันทามติพรรคร่วมรัฐบาล
เมื่อถามว่าเหมือนมีประชาธิปัตย์พรรคเดียวในพรรคร่วมรัฐบาลที่เดินหน้าเรื่องนี้ นายจุรินทร์ตอบว่า เรื่องนี้ชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ในนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา แปลว่าพรรคร่วมรัฐบาลเห็นร่วมกันอยู่แล้ว ไม่น่ากังวลอะไร คุยกันในวิปรัฐบาลมีการประสานงานกันดี และต้องเป็นความเห็นร่วมของทั้งสภาฯ เพราะการแก้ไขได้ต้องใช้เสียงจำนวนมาก ลำพังซีกรัฐบาลอย่างเดียวไม่สำเร็จ ต้องรอฝ่ายค้านและวุฒิสมาชิกด้วย ส่วนที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นเรื่องเศรษฐกิจนั้น ไม่มีความเห็น คงต้องถามฝ่ายค้านจะยื่นเมื่อไหร่อย่างไร
หนุน “มาร์ค” นั่ง กมธ.ศึกษา รธน.
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ ผู้เสนอญัตติขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์คงต้องรอให้วิปรัฐบาลพิจารณาอีกครั้งว่า จะใช้ กมธ.ในสัดส่วนเท่าไหร่ และพรรคได้กี่ที่นั่ง หากยึดตามสัดส่วนเดิมพรรคจะมีโควตาจำนวน 4 คน ซึ่งมีตน แน่นอนในฐานะผู้นำเสนอญัตติ ส่วนจะมีชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเป็น กมธ.ด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรคจะพิจารณาว่าเห็นกันอย่างไร แต่ส่วนตัวเห็นว่านายอภิสิทธิ์เหมาะสมที่จะนั่ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ เพราะมีความรอบรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ มีจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยชัดเจน หากที่ประชุมพรรคมีมติจริงก็ต้องมีการทาบทาม ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ไม่เคยขัดมติพรรค เชื่อว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้ช่วยในเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์จะปฏิบัติอย่างที่ผ่านมา
ปชป.โวผลงานทำได้ไวทำได้จริง
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเดินหน้านโยบายประกันรายได้เกษตรกรว่า นับแต่วันที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล รัฐมนตรีของพรรคได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราตั้งใจทำงานให้กับประชาชน โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ เร่งทำงาน ให้ประชาชนได้รับประโยชน์เร็วที่สุด ตามนโยบายประกันรายได้ที่พรรคให้คำมั่นสัญญาไว้ตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียง และบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพราะเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรท่ามกลางสภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งนี้ นโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่ได้ดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรไปแล้ว 3 ชนิดพืชจาก 5 ชนิด คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เสียงสะท้อนของเกษตรกรฝากขอบคุณพรรคประชา-ธิปัตย์ นายจุรินทร์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และคณะ ที่ร่วมกันผลักดันช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ว่า “เราทำได้ไว และทำได้จริง”
“เต้” ไม่เข็ดตั้งตนผู้นำฝ่ายค้านอิสระ
อีกเรื่อง นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ โพสต์ลงเฟซบุ๊กโชว์หนังสือคำสั่งแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้นำฝ่ายค้านอิสระระบุว่า พรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคประชาธรรมไทยได้แถลงออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ตัดสินใจมาทำงานร่วมกันในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านอิสระ ดังนั้นเพื่อให้การทำหน้าที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านอิสระจำนวน 2 เสียงให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเต็มที่ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมืองต่อฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ จึงขอแต่งตั้งผู้บริหารฝ่ายค้านอิสระ ดังนี้ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เป็นผู้นำฝ่ายค้านอิสระ นายพิเชษฐ สถิรชวาล เป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายค้านอิสระ นายธรรมรัตน์ สุวรรณโพธิ์ศรี เป็นโฆษกฯ น.ส.เยาวเรศน์ ชินภักดี เป็นรองโฆษกฯ นายบุญถาวร ปัญญาสิทธิ์ เป็นประธานที่ปรึกษาด้านกฎหมายฯ และนายนักบุญ อรรคบุตร เป็นผู้อำนวยการสำนักงานฯ