“ประยุทธ์” แจงรัวๆ มอง Big Data ไม่ซ้ำซ้อน ชี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีกิจกรรมต่างๆ อยู่มาก ย้ำ ไม่ได้เอื้อประโยชน์คนรวย ขอให้เชื่อมั่นว่าจะรับเรื่องทั้งหมดที่อภิปรายมา
วันที่ 18 ต.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภายหลัง ส.ส.หลายคนอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ถึงเรื่อง Big Data ที่อาจซ้ำซ้อน ว่า ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีข้อมูลจำนวนมาก และข้อมูลบางอย่างก็มีเพื่อเก็บรักษาไว้แต่ละองค์กร บางเรื่องเปิดเผยไม่ได้ จึงต้องมีการทำ Big Data ขนาดเล็กสำหรับกระทรวงหรือองค์กร แต่ในส่วนที่เป็นข้อมูลข่าวสารกับประชาชนที่เปิดเผยได้จะถูกส่งมาที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คิดว่าไม่ใช่การซ้ำซ้อน
สำหรับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในกฎหมายเขียนไว้ว่ามีการปรับได้ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบใหญ่ แต่มีกิจกรรมต่างๆ อยู่ภายในจำนวนมาก งบประมาณเงินกู้ 4 แสนกว่าล้าน จะไม่กู้เท่านี้ก็ได้ หากเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหรือเกินเป้าหมาย ซึ่งเฉลี่ยรวมแล้วได้ตามประมาณการหรือมากกว่านิดหน่อย ไม่ใช่การเก็บภาษีไม่ตรงเป้าหมาย อีกทั้ง เงินกู้ส่วนนี้หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องกู้ แต่ต้องระมัดระวังขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเรา รัฐบาลพยายามบริหารหนี้สาธารณะมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นภาษีต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่จะขึ้นตรงไหนก็ขึ้นได้เลย ปัญหาคือประชาชนยินยอมหรือไม่ มีความพร้อมในการเสียภาษีหรือไม่ เรากำลังทำให้เข้าสู่ระบบภาษี ต้องค่อยเป็นค่อยไปโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุด
...
ส่วนอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษ ในอนาคตดิสรัปชั่นเกิดขึ้นแน่ รัฐบาลก็ทำเป็นขั้นตอนเพื่อรับมือมาตลอด 4-5 ปี รวมถึงรัฐบาลปัจจุบันด้วย แต่ต้องใช้เวลา หากต้องการให้เร็วก็ต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้ อีคอมเมิร์ซมีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเป็น 100% การค้าปลีกลดลงแน่นอน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขายเป็นออนไลน์ รัฐบาลก็พยายามอยู่ “ส่วนเรื่องการเอื้อประโยชน์คนรวย ร้านสะดวกซื้อใกล้ร้านค้าปลีก ให้ไปดูกฎหมายว่าให้ตั้งห่างเท่าไหร่ ถ้าไม่ตั้งตามนั้นก็ผิดกฎหมาย ตั้งไม่ได้ ผมไม่ได้เข้าข้างใครทั้งสิ้น อยากให้มีการจับจ่ายใช้สอยของคนในพื้นที่” ทั้งนี้ มีผู้ค้าหลายรายลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ แต่ขายไปเรื่อยๆ ก็ออกจากระบบเพราะกลัวจะเสียภาษี เนื่องจากหากมีรายได้เกิน 8 ล้านบาทต้องเสียภาษี แสดงว่าเขาเหล่านั้นขายได้ดีกว่า 8 ล้านบาท แต่ถ้าใครเสนอให้ทำทางระบบออนไลน์แล้วได้การตอบแทนสูงเกินจริงอย่าไปเชื่อ ขอให้ระมัดระวัง
ขณะที่เรื่องสังคมสูงวัย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่ารัฐบาลเตรียมการมานานแล้ว ก่อนหน้านี้ส่งเสริมมาตรการให้ทุกคนมีลูก แต่เขาไม่อยากมีก็บังคับไม่ได้ ดูแลคนทุกช่วงวัย เป็นขั้นเป็นตอน ส่วน กยศ. ต้องสร้างความรับผิดชอบ ผ่อนชำระ ต้องแก้ไขเรื่องนี้ หลายคนอยากให้เรียนฟรีถึงปริญญาตรี แต่เงินที่ต้องใช้ต่อหัวประมาณ 1 ล้านบาท ถ้าเรียนหมอประมาณ 5 ล้านบาท รัฐบาลคิดอย่างละเอียด ตนเองเป็นคนซักเอง นอกจากนี้ คนสูงวัยหลายคนเรียนรู้การใช้ระบบดิจิทัลเป็นมากขึ้น ทุกคนต้องปรับตัว ที่เคยพูดไปไม่ใช่ว่าใช้ดิจิทัลไม่เป็น ตนเองเก่งกว่าเขา แต่ต้องใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ “หลายคนเอาไปบิดเบือนว่าผมไปดูถูกเขา ผมจะไปดูถูกเขาได้ไง ผมก็เบบี้บลูมเมอร์เหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดทิ้งท้ายก่อนไปปฏิบัติภารกิจต่อ ว่า “อย่าคิดถึงผมแล้วกันนะครับ เห็นเมื่อกี้ผมยังไม่เข้ามาเรียกหานายกฯ กันจัง ผมดูตลอดเวลาแหละ” ก่อนจะสรุปเรื่องงบประมาณต่อไปว่า ที่เสนอมาทั้งหมดเกิน 3.2 ล้านล้านบาท มีการกลั่นกรองมาก่อนแล้ว ถ้าเอาตัวเองทั้งหมดที่เสนอมาสูงถึง 5-6 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ใครขอเท่าไหร่ก็ให้ แต่ถ้าขาดเหลือเร่งด่วนก็ให้งบกลางแต่ต้องผ่าน ครม. ทุกอย่างไม่ง่าย ขอให้เชื่อมั่นไว้ใจว่ารับเรื่องทั้งหมดที่อภิปรายมา.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับ "การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ"
(ภาพจาก วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา)