เพื่อไทย ระดมพลเตรียมอภิปรายงบประมาณ จัดทัพนายหมู่ 12 คน จี้ 4 ประเด็นหลัก เผย จ่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ รัฐมนตรีโหวต พ.ร.บ.งบ ได้หรือไม่ ปัดจ้องล้มรัฐบาล
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ต.ค. 2562 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้เรียกประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค แกนนำ รวมถึง ส.ส.พรรคเพื่อไทย มาประชุมเตรียมเนื้อหาและความพร้อมในการเตรียมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยหัวใจหลักของการอภิปรายจะชี้ให้เห็นว่าการจัดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ ไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
ทางด้าน นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า เรื่องเวลาการอภิปราย เห็นว่ารัฐบาลมีท่าทีที่อ่อนลง เบื้องต้นคาดว่าทั้ง 3 วัน จะเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 - 24.00 น. และหากตกลงกันไม่ได้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนรูปแบบการอภิปรายจะใช้วิธีแบบลูกเสือ คือ มีผู้อภิปรายทั่วไปก่อน จากนั้นนายหมู่จะเป็นผู้เติมเต็มสรุปข้อมูลเป็นบางช่วงเพื่อให้เนื้อหาครอบคลุม
เบื้องต้น กำหนดตัวนายหมู่ไว้ 12 คน แบ่งตามหมวด เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ รวมถึงตนเองด้วย ส่วนเนื้อหาภาพรวมจะเน้นชี้ให้เห็น 4 ประเด็นหลัก คือ 1. การใช้งบให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนหรือไม่ 2. แก้ปัญหาตอบโจทย์ประเทศได้สูงสุดหรือไม่ 3. ใช้งบประมาณได้ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และ 4. จัดงบประมาณมีความโปร่งใสถูกต้องหรือไม่ โดยจะชี้ให้เห็นเหตุผลว่า เหตุใดฝ่ายค้านจึงไม่สามารถยกมือสนับสนับสนุนให้กับ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ได้ ยืนยันว่าไม่ได้จ้องล้มรัฐบาลหรือใช้งบประมาณมาเป็นเกมการเมือง
...
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายค้านอาจจะยอมให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ในวาระรับหลักการนั้น นายสุทิน ตอบว่า จะมีข้อสรุปในวันสุดท้ายหลังจากหารือร่วมกับ 7 พรรคฝ่ายค้าน ส่วนจะยกมือให้ผ่านหรืองดออกเสียงขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะรับฟังคำแนะนำและนำไปปรับปรุงหรือไม่ เชื่อว่าจะไม่มีงูเห่าหรือใครแตกมติพรรค อย่างไรก็ตาม นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แกนนำพรรคเศรษฐกิจใหม่ จะไม่ร่วมอภิปรายในครั้งนี้ เพราะแสดงความต้องการตั้งแต่ต้นว่าจะขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเท่านั้น ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า ส.ส. ที่เป็นรัฐมนตรีสามารถโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณได้หรือไม่ เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงจะต้องมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการอภิปรายครั้งต่อไป.