เชาว์ ซัด จิรายุ อย่าใช้ตำแหน่งประธาน กมธ.ตีกินทางการเมือง แนะ เข้าใจกระบวนการศาล และบทบาทหน้าที่ของตนเอง เตือน อย่าโหนกระแสโจมตีศาลเหมือนในอดีต

วันที่ 8 ต.ค. 2562 นายเชาว์ มีขวด ทนายอาสา และอดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “อย่าเอากรณีผู้พิพากษาพยายามยิงตัวตาย มาใช้ตีกินทางการเมือง” มีเนื้อหาว่า กรณีการพยายามใช้อาวุธปืนยิงตัวตายในบัลลังก์ ขณะพิจารณาคดีของ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้นจังหวัดยะลา อ้างว่า กดดันถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชา ชักจะลุกลามบานปลายกันไปใหญ่ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ลงเฟซบุ๊กไปก่อนนี้แล้วว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องฟังความให้รอบด้าน รวมทั้งต้องดูรายละเอียดในเนื้อหาคดีทั้งหมด ถึงจะสามารถชั่งน้ำหนักได้ว่า ฝ่ายไหนถูก ผิด ซึ่งเมื่อวานคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบได้แต่งตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และรายงานให้ ก.ต.ทราบภายใน 15 วัน ท่ามกลางความร้อนแรงหลายฝ่ายก็หยิบยกเอาประเด็นนี้มาวิพากษ์วิจารณ์ขยายวงกว้างไปเป็นประเด็นทางการเมือง และโจมตีกระบวนการยุติธรรมกันอย่างขาดเหตุผล

อย่างกรณี นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกรรมาธิการองค์กรศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ สภาผู้แทนราษฎร ออกมาให้ข่าวว่า เตรียมเสนอวาระในการประชุมกรรมาธิการในการประชุมวันที่ 17 ตุลาคมนี้ เพื่อพิจารณาแก้ไขพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เรื่องห้ามมิให้ตรวจร่างก่อนอ่านคำพิพากษายิ่งเลอะเทอะกันไปใหญ่

นายเชาว์ ระบุต่อว่า อย่าลืมว่า ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจสามฝ่ายที่ถ่วงดุลกันตามรัฐธรรมนูญ และก็มีอยู่เพียงอำนาจเดียว ที่ยังพอเป็นที่พึ่งให้กับสังคมได้ แม้การแก้ไขหรือเสนอกฎหมาย จะเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ที่ผ่านมา สภาก็ไม่เคยไปก้าวก่ายกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารคดีของศาล เป็นหน้าที่ของสถาบันศาล ที่จะพิจารณาว่า จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในส่วนใดบ้าง สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่เพียงให้ความสะดวกเท่านั้น ที่สำคัญแนวคิดเรื่องให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี เคยใช้มาแล้วตามรัฐธรรมนูญ 2540 ปรากฏว่า มีข้อบกพร่องเยอะมาก มีสถิติว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นถูกกลับ และแก้ไขโดยศาลสูง มีมากจนผิดปกติเพราะขาดประสบการณ์ในการพิจารณาคดี ความเสียหายจึงตกกับประชาชนหรือคู่ความในคดี จึงมีการแก้ไขกลับมาใช้ระบบตรวจคำพิพากษาแบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมิใช่เป็นการแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดี แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เกิดความละเอียดรอบคอบถูกต้องมากยิ่งขึ้น

...

"การเสนอให้แก้ไขกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อให้องค์คณะผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจอย่างอิสระ โดยมิได้ศึกษาข้อมูลและขาดความรู้ ความเข้าใจ ระบบการตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษา จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ความเสียหายก็จะตกแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต จึงขอให้นายจิรายุ ได้เข้าใจในกระบวนการที่ผ่านมา และบทบาทอำนาจหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้อง อย่าใช้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการพร่ำเพรื่อ โหนกระแสเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองก้าวก่ายการทำงานของศาล หรือตีกินโจมตีกระบวนการยุติธรรมว่า สองมาตรฐานเหมือนที่เคยทำมาในอดีต" นายเชาว์ กล่าว...