“วิษณุ” เผย ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีสามารถลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณได้ ชี้ ที่ผ่านมาหากร่างไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. สามารถลงมติในร่าง พ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้ ซึ่งได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ แต่ไม่ควรลงมติกรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจตนเอง แต่หากเป็นเรื่องของกฎหมายสำคัญ หรือเป็นเรื่องส่วนรวม ไม่มีส่วนได้เสียส่วนตัว สามารถลงมติได้ ดังนั้นรัฐมนตรีทั้ง 19 คน ก็เป็น ส.ส.ได้รับการชี้แจงว่าสามารถลงมติร่างงบประมาณได้เช่นเดียวกับกฎหมายสำคัญอื่นๆ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน เนื่องจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเป็นเรื่องที่สำคัญเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ฝ่ายค้านสอบถามมายังกระทรวงใดก็สามารถที่จะตอบได้ทันที โดยเฉพาะในวาระที่หนึ่ง และนายกรัฐมนตรียังได้กำชับเรื่องสัดส่วนคณะกรรมาธิการรัฐมนตรี 15 คน ที่จะต้องพิจารณาในชั้นแปรญัตติ ขอให้ผู้แทนรัฐบาลทั้ง 15 คนนี้ ต้องเป็นคนที่มีเวลาว่าง เพราะต้องนั่งอยู่ตลอดการประชุม เนื่องจากการพิจารณาจะเป็นไปทีละมาตรา

พร้อมกันนี้ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการทั้ง 15 คน ไม่ได้ไปนั่งแบบโก้ๆ หรือแค่เป็นเกียรติให้กับตนเอง เพราะเป็นการพิจารณากฎหมายที่ยาวนานที่สุด จึงขอให้เลือกคนที่มีเวลาเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ในส่วนของคณะรัฐมนตรีคัดเลือกคณะกรรมาธิการได้เพียง 3 คนเท่านั้น ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง เพราะมีหน้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนอีก 12 คน จะให้แต่ละพรรคไปพิจารณาและเสนอกลับมายังรัฐบาล ส่วนจะกำหนดวันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรกี่วัน วิปทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องพิจารณาร่วมกัน

...

อย่างไรก็ตาม หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างไร นายวิษณุ เผยว่า ตามหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามระบบรัฐสภา กำหนดไว้แล้วว่าสิ่งไหนที่แสดงว่าสภาเสียงข้างมากไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลนั้นก็ไม่พึงที่จะอยู่ต่อไป การไม่ไว้วางใจนั้นแสดงออกได้ 2 อย่าง คือ ไม่ไว้วางใจโดยเปิดเผย และไม่ไว้วางใจโดยปริยาย ซึ่งแสดงออกด้วยการรัฐบาลเสนอข้อกฎหมายสำคัญแล้วสภาไม่ผ่าน ก็ถือว่าเป็นไม่ให้อำนาจรัฐไปบริหารประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรจะอยู่ต่อ ซึ่งวิธีที่รัฐบาลจะไม่อยู่ต่อคือการลาออกและยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการเมืองไทยก็ปฏิบัติเช่นนั้นมาก่อน.