กมธ.สารพิษฯ วางเป้าแบน 3 สารเคมีอันตราย เตรียมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษ จ่อเชิญ รมต.เกี่ยวข้องให้ข้อมูลชี้แจงสัปดาห์หน้า ยอมรับมีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่เรื่องง่ายในการแก้ไข 

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.62 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม กมธ.ฯนัดที่สองว่า จากการหารือของ กมธ.ฯ มีมติร่วมกันว่าจะนำเสนอและผลักดันด้านนโยบาย ให้นำไปสู่การห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต และจะเริ่มสร้างความตระหนักถึงอันตรายของการใช้สารเคมีอันตราย โดยให้ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นักวิชาการคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานะ กมธ.ประสานไปยังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษของการใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว เพราะ กมธ.ฯ เห็นว่าการสร้างกระแสกดดันจากสังคม จะทำให้การเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวสามารถทำได้ ส่วนการประชุมของ กมธ.ฯ สัปดาห์หน้า จะเชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล และชี้แจงพร้อมรับข้อเสนอแนะ

นายชวลิต กล่าวยอมรับว่า กมธ.ฯ ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงกรณีการเชิญคณะกรรมการวัตถุอันตราย มาชี้แจงหรือให้ข้อมูล แม้ว่ามติล่าสุดจะชะลอการประกาศห้ามใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าวออกกไปอีก 60 วัน เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรหาสารทดแทนตัวใหม่ เนื่องจาก กมธ.ฯ ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ได้ อย่างไรก็ตามในแนวทางของ กมธ.ฯ เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว อาจมีข้อเสนอต่อการยกร่างกฎหมายเพื่อเสนอให้รัฐบาลรับไปพิจารณา ส่วนกรณีการใช้สารเคมีอันตรายที่หลายฝ่ายมองว่า มีผลกระโยชน์ทับซ้อนนั้น ตนฐานะที่ติดตามประเด็นกว่า 10 ปี มองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้ความพยายามโดยเฉพาะการสร้างกระแสสังคมกดดัน 

...

ด้าน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ ฐานะที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า แนวทางของ กมธ.ฯ จากนี้ไป คือ การสร้างความตระหนักถึงผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิต ที่เกิดจากการใช้สารเคมีอันตรายดังกล่าว โดยจะนำฐานข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาพิจารณา และใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนภารกิจ ตามเป้าหมายหลักคือการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย ตามขั้นตอนที่สามารถทำได้ รวมถึงปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรยึดการเกษตรปลอดภัย, เกษตรชีวภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงและผลดีกับเกษตรกร ทั้งด้านเศรษฐกิจและรายได้

"กระบวนการขับเคลื่อนเชิงกฎหมายนั้น กมธ.ฯ มีแนวทางที่จะดำเนินการเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และนอกจากการเสนอความเห็นแล้ว สัปดาห์ต่อไปจะลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คือ อ.เชียงของ จ.เชียงราย วันที่ 4 ตุลาคม และ จ.หนองบัวลำภู" นางพรรณสิริ กล่าว