เรื่องราวในสภาต่อ การอภิปรายทั่วไป ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงยุติลงแต่เพียงเท่านี้ รอภาคสอง การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในสมัยประชุมหน้า และก็อย่างที่รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม อธิบาย เมื่อไม่มีอะไร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงทำงานกันต่อไปเรื่อยๆ

สิ่งที่ฝ่ายค้านจะทำได้ก็คือ ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ เรื่องของ จริยธรรมทางการเมือง มีบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะวางกรอบหรือแนวทางอันดีงามที่พึงปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสงบร่มเย็นเป็นสุข การที่ทำให้มนุษย์มีมโนธรรม รู้จักแยกแยะความถูกผิด ควร ไม่ควร

ในกรณีที่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รายงานต่อ สภาคณะรัฐมนตรี หรือสถาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และถ้าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงให้ส่ง เรื่องให้ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามมาตรา 270

มาตรฐานทาง จริยธรรม เป็นกลไกใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยให้ ศาลรัฐธรรมนูญ กับองค์กรอิสระ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาภายใน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าไม่เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จะต้องพ้นจากตำแหน่ง โทษของความผิดที่ ป.ป.ช.เสนอให้ ศาลฎีกาพิพากษา ต้องพ้นจากตำแหน่งและอาจถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ จริยธรรม ความยุ่งยากอยู่ที่การวินิจฉัย อะไรควรไม่ควร การแยกแยะถูกหรือผิด โดยเฉพาะในบางช่วงบางตอนของการเมืองที่ถูกปกคลุมไปด้วย อำนาจที่เหนือรัฐธรรมนูญ

...

สุดท้ายเมื่อ มาตรฐานตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีคำตอบจะเป็นชนวนและแรงผลักดัน ให้เกิดการประท้วงต่อต้านกระบวนการตรวจสอบ เรียกร้องความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้กับสังคม

นิทานเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นหนังเก่าที่ฉายซ้ำวนเวียน มาตั้งแต่ปี 2549 จากประชาธิปไตยเสียงข้างมากเผด็จการรัฐสภา ไปสู่อำนาจรัฐล้มเหลว สุญญากาศทางการเมือง

และปฏิวัติรัฐประหาร

เพราะ การไม่ยอมรับกติกา ไม่ลาออก ไม่ยุบสภา ไม่ยอมรับผิด ไม่ยอมรับโทษ ไม่แยแสรัฐธรรมนูญ ยึดถือในอำนาจที่ตนมีอยู่ ใช้อำนาจที่มีอยู่โดยไม่เคารพกติกาบ้านเมืองและเหลิงอำนาจ

สถานการณ์การเมืองเวลานี้ ก็ไม่ต่างจากสมัยรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย รัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือหลายรัฐบาลก่อนหน้านั้น และในที่สุดก็จะลงเอยในวิถีการเมืองที่มีจุดจบไม่แตกต่างกัน

เป็นวิกฤติบ้านเมืองที่เกิดจากต่อมจริยธรรมไม่แข็งแรง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th