2 เรื่องในวันเดียวกัน...

ถือว่าวันที่ 18 ก.ย.62 นั้นมีความสำคัญทางการเมืองวันหนึ่งที่มีผลต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลยทีเดียว

เรื่องที่ 1 คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยกรณีที่มีการยื่นร้องว่า พล.อ.ประยุทธ์ “ขาดคุณสมบัติ” ความเป็นรัฐมนตรี เนื่องมาจากเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ว่าไม่ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.และการดำรงตำแหน่งนายกฯก่อนมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง

ถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความสงบเรียบร้อยของประเทศจากการ “ยึดอำนาจ” ที่อยู่นอกเหนือกฎหมายและความเป็นรัฏฐาธิปัตย์

จึงไม่ถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” แต่อย่างใด

นั่นเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ขาดคุณสมบัติจึงไม่สิ้นสุดการเป็น “รัฐมนตรี” เฉพาะตัวจึงสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้

ผ่านไปเรื่องหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์รอดพ้นไปได้

เรื่องที่ 2 การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติที่ถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมสภา เนื่องจากเป็นเรื่องข้อซักถามและเสนอแนะไม่ใช่การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลอย่างการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

มีอยู่ 2 ประเด็นในญัตติดังกล่าว

2.การไม่เปิดเผยแหล่งที่มาของรายได้ในการนำไปใช้ในการดำเนินนโยบายของรัฐตามโครงการต่างๆดังที่แถลงเอาไว้

...

ว่าไปแล้วการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านถือว่าอยู่ในมิติที่ดี คือว่าด้วยเนื้อหาสาระตรงเป้าตรงประเด็นจากญัตติที่ถูกร้อง

กรณีเรื่องการไม่แจงรายละเอียดแหล่งที่มาของรายได้นั้น ด้วยการมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลถังแตก จึงไม่สามารถเผยรายละเอียดได้จนต้องหารายได้จากแหล่งอื่นๆอันแสดงว่ากำลังเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ

หรือประเด็นการถวายสัตย์ฯไม่ครบนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นข้อมูลที่เคยมีการพูดกันมาก่อนหน้านั้น แล้วเน้นว่าเป็นเรื่องของ “เจตนา” มากกว่า “ไม่เจตนา”

เพราะต้องการคงอำนาจเอาไว้โดยไม่ยอมรับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ประเด็นนั้น ได้มีการเสนอทางออกให้นายกฯ แก้ไข 2 ข้อ

1.ลาออก

2.ถวายสัตย์ฯใหม่เพื่อจะได้เริ่มต้นกันในการเข้าบริหารประเทศต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินทางมาร่วมประชุมสภาอย่างที่ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ด้วยการนั่งเคียงคู่กับ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฟังคำอภิปรายของฝ่ายค้าน

เบื้องต้นนายกฯได้ชี้แจงเรื่องแหล่งที่มาของรายได้ว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายที่ได้บัญญัติเอาไว้ทุกประการ

เสียดายครับ...ระหว่างเขียนต้นฉบับการอภิปรายยังไม่จบก็เลยไม่รู้ว่าผลจะลงเอยอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นการถวายสัตย์ฯ ว่าฝ่ายรัฐบาลจะตอบอย่างไร

เพราะเห็นแวบๆว่านายกฯได้ออกจากสภาไปแล้ว รัฐมนตรีท่านใดจะชี้แจงแทนและจะแก้ต่าง หรืออธิบายความว่าอย่างไร

ผมว่าประชาชนที่รับชมและฟังการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้คงจะประเมินได้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่อย่างน้อยการเอาปัญหามาถกกันในสภาถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

ที่แน่ๆคงไม่ได้เห็นการ “ลาออก” ของนายกฯในกลเกมการเมืองนี้.

“สายล่อฟ้า”