บรรดาศักดิ์ “หลวง” โดยทั่วๆไป ไม่ใหญ่โตอะไรนัก แต่ถ้า เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา...ซึ่งต่อมาเป็นต้นราชวงศ์จักรี ก็จะเห็นว่าใหญ่โตมากทีเดียว

แต่ก็ยังงง...กันอยู่ ตำแหน่งนี้ใหญ่ขนาดไหน ขอบเขตของงานมีอะไรบ้าง

ส.พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือ เกร็ดภาษาหนังสือไทย เล่ม 1 (พิมพ์คำสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2553) ว่า

ตำแหน่งยกกระบัตรเริ่มมีในสมัยอยุธยา พบในพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง ตราขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ.1998 ได้ออกนาม พระภักดีราชยุกกระบัตร นา 1600 และอีกตำแหน่ง ยุกกระบัตร นา 500

ตำแหน่งยกกระบัตรนี้มีทุกเมือง ยกกระบัตรเมืองจัตวา นา 500 หัวเมืองตรี นา 800 หัวเมืองโท นา 1000

ยกกระบัตรมีหน้าที่รักษากฎหมาย มีข้อความปรากฏในหนังสือของลาลูแบร์ ฉบับกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงแปล เล่ม 4 ความว่า

“ออกพระยกกระบัตรทำนองเจ้ากรมอัยการคน 1 หน้าที่นั้นเป็นผู้สอดแนมดีร้ายของผู้ว่าราชการเป็นที่ตั้ง”

ตำแหน่งยกกระบัตรไม่ได้สืบทายาทต่อถึงบุตรหลาน พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งข้าราชการบางคนที่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ด้วยเหตุตามที่เคยเป็นมาตามธรรมดานั้น ข้าราชการเหล่านี้ไม่มีทางกำกับกันอย่างไร

ด้วยบรรดาเจ้าเมืองและกรมการทั้งสิ้น ไม่ว่าหน้าไหน ย่อมรู้เห็นเป็นใจปรึกษาหารือกันเป็นการลับ

แสดงว่า ตำแหน่งยกกระบัตรในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นตัวแทนต่างพระเนตรพระกรรณพระมหากษัตริย์ อำนาจอิทธิพลล้นพ้น

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า เสนาบดีกระทรวงวัง เป็นหัวหน้าในพระราชสำนัก เป็นเจ้ากระทรวงยุติธรรม จึงมีนาม ธรรมาธิกรณ์ มีหน้าที่ตั้งยกกระบัตรไปอยู่ประจำหัวเมือง

...

ทำรายงานต่างๆในเมือง กราบทูลตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ต้องผ่านกระทรวงมหาดไทย กลาโหม หรือกรมท่า หน้าที่โดยเปิดเผย รักษากฎหมายและพิจารณาคดีอาญา โดยมีเจ้าเมืองเป็นประธานชี้ขาด

ในสมัยต่อมาที่มีการจัดตั้งเป็นเมือง เป็นมณฑล ก็มียกกระบัตรเมือง ยกกระบัตรมณฑล

ตำแหน่งนี้เลิกใช้เมื่อ พ.ศ.2458 เปลี่ยนไปเรียกอัยการเมือง อัยการมณฑลแทน

ถึงปี พ.ศ.2478 จึงได้เปลี่ยนเป็นอัยการจังหวัด เป็นอันว่า ยกกระบัตร ในหน้าที่ทางกฎหมายเลิกใช้

แต่ในทางการทหารแต่โบราณ ยกกระบัตรมีหน้าที่เกี่ยวกับบัญชีทหาร คู่กับกองเกียกกาย หน้าที่เหล่านี้ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพลาธิการ ตั้งเป็นกรมเรียก กรมพลาธิการ

ส.พลายน้อย ได้ข้อมูลจากข้าราชการเชียงราย ทางแคว้นฉานไทยใหญ่ เรียกนายอำเภอว่ายกบัตร และยังใช้กันอยู่ ทางน่านเจ้า มีชื่อกรมที่ทำหน้าที่ทำนองอัยการ เรียกกรมติเตียน

ผู้รู้เรื่องเขมรบอกว่า มีตำแหน่งโยกบาต เป็นตำแหน่งฝ่ายตุลาการ รองเจ้าเมือง และปลัดลงมา มีหน้าที่ทำทะเบียนและทะเบียนภาษี บัดนี้ยังเรียกกะลาบัญชี

พอสรุปได้ ตำแหน่งยกกระบัตรทำงานได้หลายๆอย่าง เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หลายงานก็เป็นงานในกระทรวงทบวงกรมสมัยใหม่ เอาไปทำกันหมดแล้ว

จะเหลือก็เพียงแต่หน้าที่แรกๆที่ยังไม่มีตั้งเป็นทางการ คือเป็นหูเป็นตา ท่านผู้นำผู้มีอำนาจ

ผมขอเสนอว่า ถ้ารัฐบาลยังหาตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะเจาะเหมาะใจ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติไม่ลงตัว เพราะตำแหน่งท้ายๆ ระดับประธานกรรมาธิการ ก็แบ่งสรรกันไปไม่มีเหลือแล้ว

น่าจะลองรื้อฟื้นเอาตำแหน่งยกกระบัตรมาให้พวกท่านทำ อย่างน้อย หน้าที่ในสมัยน่านเจ้า คือกรมติเตียน

เมื่อเห็นอะไรไม่ชอบมาพากล ก็ต้องรีบบอกท่านผู้นำให้รีบแก้ไข ก่อนเรื่องบานปลายใหญ่โต เป็นคุณแก่บ้านเมืองและแก่ตัวเองไม่น้อยเลยทีเดียว.

กิเลน ประลองเชิง