"บิ๊กป้อม"สั่ง วางแผนระบายน้ำ แจ้งเตือนประชาชนทุกพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง ด้าน สทนช.เขื่อนเจ้าพระยา ยังรับมือสถานการณ์น้ำได้
วันที่ 9 ก.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบาย การปฏิบัติราชการของรัฐบาล และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยมี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงาน สทนช. พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. ร่วมรับฟัง
ซึ่ง พล.อ.ประวิตร สั่งการให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนระบายน้ำ แจ้งเตือนประชาชนทุกพื้นที่ ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบล่วงหน้า ตลอดจนปรับปรุงและซ่อมแซม อาคารบังคับน้ำที่มีอยู่ให้สามารถใช้การได้ตามปกติ เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น จัดจราจรน้ำ หน่วงน้ำ ผันน้ำ เพื่อเลี่ยงพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ชุมชน นอกจากนั้น ให้พิจารณาใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ แก้มลิง และพื้นที่เกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้ว เป็นพื้นที่รับน้ำ หน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่าง
ส่วนมาตรการ การเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน และฤดูแล้ง ในปีนี้ และ ปี 2563 พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมายให้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถาบันสารสนเทศน้ำเพื่อการเกษตร (องค์การมหาชน) ตรวจสอบสภาพเขื่อน ฝาย อาคารชลประทาน ฯลฯ ระบบการระบายน้ำ สถานีโทรมาตร เพื่อติดตามเฝ้าระวัง รวมถึงมอบกรมฝนหลวง และการบินเกษตร จัดทำฝนหลวง เพื่อเร่งเก็บกักน้ำไว้ สำหรับการใช้น้ำในฤดูแล้งถัดไป และให้ สทนช. ตั้งศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปีถัดไป ตลอดจนเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจแม่น้ำ คูคลอง หากมีสิ่งกีดขวาง ให้ดำเนินการขุดลอก ทั้งผักตบชวา ขจัดขยะ และปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ให้แล้วเสร็จโดยด่วน ในช่วงฤดูน้ำหลาก
...
นอกจากนี้ แผนระยะยาวได้มอบหมายให้ สทนช. เร่งแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) ใน 66 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำ โดยเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหา แผนงานโครงการสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไป
ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยถึง เขื่อนเจ้าพระยา ออกประกาศฉบับที่ 3 ในการแจ้งเตือน 7 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ลพบุรี เตรียมรับมือระดับน้ำขึ้นอีก 30-80 เซนติเมตร ว่า เบื้องต้นแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำ ก่อนที่น้ำจะมาถึง ให้รีบขนของขึ้นที่สูงโดยด่วน เช่น ประชาชนที่อยู่พื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำล้นตลิ่งอยู่แล้ว คือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น โดยมีแนวทางช่วยเหลือไว้แล้ว ทั้งการช่วยเหลือในการเดินทางเข้าออกพื้นที่ อาหาร และเครื่องดื่ม หากประชาชนได้รับผลกระทบมาก โดยขณะนี้ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้ เพราะเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำในอัตรา 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังไม่เกิน 1 พันลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง