เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ย้ำ กรมชลประทานเร่งทำงานเต็มที่ ลั่น พร้อมทำงานเคียงข้าง ไม่เอาเปรียบ ขรก. เตรียมแก้มลิงเช่าเก็บน้ำ สำรวจเขื่อนอายุ 20 ปี จัดงบขุดลอกเก็บน้ำเพิ่ม

รมว.เกษตรฯ ย้ำ กรมชลฯ ให้ทำงานเชิงรุก พร้อมทำงานเคียงข้าง ไม่เอาเปรียบข้าราชการ วางมาตรการแก้ไขเต็มสูบ สั่งเตรียมพื้นที่แก้มลิงเช่าเก็บน้ำ พร้อมชดเชย และสำรวจเขื่อนอายุ 20 ปี จัดงบขุดลอกเก็บน้ำเพิ่ม เพราะเขื่อนสร้างยาก

วันที่ 6 ก.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมร่วมกับ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับสำนักชลประทานทั่วประเทศ โดยนายเฉลิมชัย ฝากให้ดูแลอย่างรอบด้าน เพราะมีทั้งภัยแล้งและอุทกภัยพร้อมกัน เพราะฉะนั้นความเสียหายจะลดลงได้จากการเตรียมความพร้อม การเฝ้าระวัง และวางแผน

ดังนั้น ขอฝากทุกผู้บริหารกรมทุกท่านที่จะดำเนินการบรรเทาและยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น และจะช่วยทุกคนทำอย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมารู้ว่าเหนื่อยกันมาก และที่ผ่านมาทราบดีว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก และให้เตรียมรับมือพายุที่คาดว่าอาจจะมีอีก 1 ลูก อาจจะเข้าภาคกลางและใต้ เพราะร่องฝนในเดือน ต.ค.ฝนจะอยู่ในแนวนี้

“การบริหารน้ำที่ดีและมีอยู่ในนโยบายอยู่แล้ว ทั้งแล้งและอุทกภัย ให้เตรียมทั้งคน เครื่องมือให้ดีรู้ว่าทำงานกันหนัก ผมจะไม่ทำงานเอาเปรียบพี่น้องข้าราชการ แต่จะทำงานเคียงข้างกัน และจะช่วยเติมเต็มทุกอย่างขาดเหลืออะไรให้บอก และท่านนายกรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ โดยเฉพาะการป้องกัน เพราะจะทำให้ลดความเสียหายได้มาก เราจะช่วยกันทำงานเชิงรุก“ นายเฉลิมชัย กล่าว

...

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ช่วยดูแลในเรื่องของการจูงน้ำเพื่อนำไปเก็บในที่ลุ่ม หรือแก้มลิง ที่ดินประชาชน และที่ของรัฐ นายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะช่วยเหลือโดยให้ไปดูว่าจะคิดอัตราค่าเช่าให้เกษตรกรหรือประชาชนอย่างไร เพราะต้องหยุดทำนาตลอดเวลาประกาศกฤษฎีกาเขตการเช่าที่ดินเพื่อกักน้ำไว้สำหรับฤดูแล้งถัดไปจะได้มีน้ำใช้ และระหว่างที่มีน้ำเข้าทุ่งให้ปล่อยพันธุ์กุ้งปลา ให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงนั้นด้วยเหมือนทุ่งระกำ จะมีพื้นที่เท่าไหร่อย่างไรให้แจ้งจำนวน เพราะต้องเสนอนายกรัฐมนตรีในเร็วๆนี้

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ขอให้รายงานปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดที่กักน้ำมาเกิน 20 ปี เพื่อที่จะดูว่าจะสามารถขุดลอกได้หรือไม่ จะได้เพิ่มศักยภาพการเก็บน้ำเพิ่ม โดยที่ไม่ต้องสร้างเขื่อน เพราะ 20 ปีขึ้นไป อาจมีตะกอนลึกเป็นเมตร หากขุดลอกจะเก็บน้ำได้อีกมาก ขอให้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเขื่อนสร้างยาก

สำหรับการเตรียมรับมืออุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ขอให้กรมตรวจสอบเร่งรัดโครงการบรรเทาอุทกภัยในภาคใต้ทุกจังหวัดว่า ดำเนินการคืบหน้าอย่างไร และที่ดำเนินการไม่เสร็จเพราะอะไร ทิ้งงานหรือไม่ ก็ต้องไปดำเนินการ และให้เร่งดำเนินการจำกัดสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซาก ทั้ง บางสะพาน ชุมพร นครศรีธรรมราช และหาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เป็นห่วงมาก เพราะเมื่อท่วมแล้วธุรกิจเสียมาก และที่ห่วงที่สุด คือนครศรีธรรมราช ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ครบทั้งระบบ แต่ทั้งนี้ให้ดูว่าหากมีน้ำมาก จะมีวิธีการอย่างไรที่จะลดความเสียหายได้

นอกจากนั้น ได้ฝากให้กรมชลฯ เตรียมเรื่องสะพานแบริ่งสำหรับไว้ช่วยในพื้นที่ภาคใต้เพราะภาคใต้ฤดูฝนจะมาประมาณปลายเดือน ก.ย. และเริ่มมากช่วง ต.ค.ถึง พ.ย.ให้เตรียมพร้อม หากสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ฉับไว ผลกระทบที่จะเกิดจะลดลงได้

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำชับเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่จะต้องรับน้ำเหนือจากยมและน่าน โดยจะเฝ้าที่นครสวรรค์ 1,500 ลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ทั้งนี้ กรมชลฯ จะคุมการระบายที่เขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท จะลงมาที่นครสวรรค์ไม่ให้เกิน 900 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ

อธิบดีกรมชลฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมพื้นที่เช่าเป็นแก้มลิงนั้นกรมอยู่ระหว่างการทำร่างกฎหมายหารือกฤษฎีกาเพื่อจะตรวจความถูกต้อง เพราะเมื่อประกาศเขตเช่าเป็นแก้มลิงแล้ว แสดงว่ารัฐต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ทุ่งนั้นๆ หากมีร่างประกาศไว้เมื่อต้องใช้จะสามารถนำมาประกาศได้ทันที อย่างไรก็ตามมีทั้งหมด 13 ทุ่ง แต่อาจจะไม่ใช้ทุกทุ่ง เพราะต้องบริหารตามปริมาณน้ำและสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาจะเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จภายใน 24 ก.ย.62 ซึ่งหากน้ำมากก็จะได้พิจารณานำน้ำเข้าทุ่ง และเมื่อประกาศจะต้องเช่า 4 เดือน

ทั้งนี้ในการประชุม รมว.เกษตรฯ ได้ให้สำนักชลประทาน (สชป.) ทั่วประเทศทั้ง 17 สำนักชลประทาน รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ

สำหรับปริมาณน้ำ ณ วันที่ 5 ก.ย. 62 กรมชลฯ รายงานว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกันทั้งสิ้น 46,331 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 61% ของความจุอ่างทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 22,401 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 29,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำร่วมกัน 10,855 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 44% ของความจุร่วมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 4,159 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 14,000 ล้าน ลบ.ม.