“นิด้าโพล” เผยคนกรุงส่วนใหญ่ชี้จำเป็นต้องมีส.ข. เพื่อดูแลประชาชน เป็นการกระจายอำนาจไม่ให้กระจุกอยู่ส่วนกลาง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยรู้ใครเป็นส.ข.ในเขตพื้นที่

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็น เรื่อง “สมาชิกสภาเขต จำเป็นหรือไม่?” จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามประชาชนที่มีอายุ 27 ปีขึ้นไป ถึงการไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.75 ระบุว่า เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาเขต รองลงมา ร้อยละ 31.95 ระบุว่า ไม่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาเขต ร้อยละ 5.44 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าเคยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาเขต หรือไม่ และร้อยละ 0.86 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการรับรู้หรือรับทราบ ถึงตัวบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ในเขตของท่าน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.52 ระบุว่า ไม่เคยรู้เลย ว่าใครคือ สมาชิกสภาเขต รองลงมา ร้อยละ 25.84 ระบุว่า รู้ว่าใครคือสมาชิกสภาเขต แต่ไม่เคยปรึกษาหารือ/ขอความช่วยเหลือ ร้อยละ 7.76 ระบุว่า รู้ว่าใครคือสมาชิกสภาเขต และเคยปรึกษาหารือ/ขอความช่วยเหลือ และร้อยละ 0.88 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

...


ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความจำเป็นต้องมีสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ของกรุงเทพมหานคร พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.68 ระบุว่า จำเป็นต้องมี สมาชิกสภาเขต เพราะจะได้เป็นตัวแทนในการดูแล/ประสานงาน/แก้ปัญหา ให้ประชาชนในพื้นที่กับส่วนกลางได้ เนื่องจากสมาชิกสภาเขตทำงานใกล้ชิดกับประชาชน รับรู้ถึงปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี

ขณะที่บางส่วนระบุว่า เพื่อเป็นการกระจายอำนาจรับผิดชอบไม่ให้กระจุกอยู่ที่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว รองลงมา ร้อยละ 26.16 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมี สมาชิกสภาเขต เพราะไม่มีประโยชน์ เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน ทุกวันนี้มีสมาชิกสภาเขตก็เหมือนไม่มี และไม่เคยดูแลทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่เลย และร้อยละ 12.16 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ.