"ช่อ" ไม่เอาประชุมลับ ปชป.หนุน-เปิดเผย ตู่ต้อนรับมุนแช-อิน สปีคอันยองฮาเซโย

วิปรัฐบาลเคาะแล้ว “วิรัช” แจงชงขอมติ ครม.สรุปวันซักฟอกปมถวายสัตย์ฯ 11-12 ก.ย. “เทวัญ” เผยเสียงส่วนใหญ่เสนอให้เปิดอภิปรายแบบเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ “ช่อ” ยันไม่จำเป็นต้องประชุมลับ ฉะ “บิ๊กตู่” ปล่อยเรื่องยืดเยื้อเป็นเดือน อย่าเฉไฉว่างวันไหนบอกมา พท.เห็นด้วย 11-12 ก.ย. เหมาะสม “องอาจ” หนุนประชุมเปิดเผย เชื่อ ส.ส.ทุกคนมีวุฒิภาวะสูงพอ “ศรีสุวรรณ” จ่อส่งศาล รธน.ชี้ชะตา “ไพบูลย์” ห่วงเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี “บิ๊กตู่” เป็นปลื้มต้อนรับ ปธน.เกาหลีใต้ โชว์สปีค “อันยองฮาเซโย” “เทวัญ” ปัดฝุ่นปลุกรายการนายกฯจ้อหน้าจอ

หลังจากทำท่ายึกยักมานาน ในที่สุดที่ประชุมวิปฝ่ายรัฐบาลมีมติเสนอกรอบวันอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เป็นวันที่ 11-12 ก.ย. พร้อมนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะให้เปิดอภิปรายในวันใด และจะอภิปราย 1 หรือ 2 วัน

“ช่อ” ยันไม่จำเป็นต้องประชุมลับ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 ก.ย. ที่พรรคอนาคตใหม่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงการกำหนดวันอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่า จะปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 18 ก.ย.แล้ว เรายังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เราไม่ต้องการคำตอบว่าท่านถวายสัตย์ฯครบหรือไม่ครบ เพราะประชาชนทั้งประเทศทราบแล้วว่าถวายสัตย์ฯไม่ครบ ปัญหาที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตอบ คือท่านและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะคำสั่งต่างๆที่ออกจาก ครม.เป็นที่สงสัยว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ จะโมฆะหรือไม่ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าจะเป็นการประชุมลับ พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่าต้องไม่ใช่การประชุมลับ และ พล.อ.ประยุทธ์ มีหน้าที่ต้องตอบเรื่องนี้ต่อสาธารณชน ไม่ใช่ตอบต่อสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

...

จี้ “ตู่” อย่าเฉไฉว่างวันไหนบอกมา

น.ส.พรรณิการ์กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ยืดเยื้อเรื่องนี้มาเป็นเดือน ไม่ควรปล่อยให้เป็นแบบนี้ หากไม่ยอมมาตอบในสมัยการประชุมนี้ พรรคเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรหากมีแผลเรื่องนี้อยู่ เราต้องการให้รัฐบาลจบเรื่องนี้ และเดินหน้าแก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือปัญหาข้าวยากหมากแพง คนที่จะจบเรื่องนี้ได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ ขอคำตอบว่าตกลงจะมาตอบวันที่เท่าไหร่ ไม่จำเป็นต้องไปกางปฏิทินดูว่าวันไหนท่านจะว่าง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งแล้วว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเข้าวาระปกติ ฉะนั้นท่านไปจิ้มปฏิทินมาว่างวันไหนบอกมา ประชาชนรอดูอยู่ เมื่อถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ติดภารกิจน้ำท่วม ไม่สามารถมาตอบคำถามได้ น.ส.พรรณิการ์ตอบว่า น้ำท่วมมาจากภัยพิบัติ เข้าใจว่าอีกไม่กี่วันน้ำจะลด น้ำคงไม่ท่วมต่อไปจนหมดสมัยประชุม

พท.เล็ง 11–12 ก.ย.เหมาะสม

ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการประสานจากวิปรัฐบาลว่าจะเปิดอภิปรายวันใด และยังไม่เห็นการบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภาฯก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะเป็นวันที่ 6 ก.ย. แต่ส่วนตัวเห็นว่าวันที่เหมาะสมคือ 11-12 ก.ย. โดยใช้วาระการประชุมสภาฯปกติ วิปทั้ง 2 ฝ่ายจะพูดคุยกันวันที่ 3 ก.ย. ที่สำคัญต้องรอดูความพร้อมของรัฐบาลจะจัดสรรเวลามาตอบ ส่วนสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเป็นเหตุให้นายกฯใช้อ้างไม่มาตอบสภาฯนั้น เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ใช่ว่าน้ำท่วมจะไม่สำคัญ แต่การทำงานในสภาฯ ควรต้องจัดสรรเวลาให้เหมาะสม และไม่เห็นด้วยหากจะใช้วิธีประชุมลับ เรารู้ถึงความเหมาะสมในการอภิปรายของเนื้อหา ที่จะไม่พูดก้าวล่วงไปถึงสถาบันแน่นอน

“องอาจ” หนุนอภิปรายเปิดเผย

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านนำเสนอข้อมูลผ่านสาธารณะมาเป็นระยะต่อเนื่อง จนเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าฝ่ายค้านจะพูดอะไร การอภิปรายทั่วไปครั้งนี้จึงควรเป็นการประชุมเปิดเผยตามปกติเหมือนที่เคยปฏิบัติกันมา ยกเว้นฝ่ายค้านมีข้อมูลเด็ดที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงและสถาบัน ฝ่ายค้านอาจขอให้ประชุมลับเองก็ได้ เท่าที่ดูรายชื่อผู้อภิปรายที่เปิดเผยออกมา ล้วนแล้วแต่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ มีวุฒิภาวะสูงพอที่จะพิจารณาได้ว่าควรประชุมลับหรือไม่ จะประชุมลับหรือไม่ลับอยู่ที่ข้อมูลที่นำมาอภิปราย ถ้าเป็นข้อมูลที่พูดกันอยู่นี้ก็ควรประชุมเปิดเผยตามปกติ

มั่นใจ “ประยุทธ์” แจงได้ไร้ปัญหา

นายองอาจกล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายคือกรณีรัฐบาลไม่แจกแจงที่มาของรายได้ ที่จะนำไปใช้ในนโยบายต่างๆของรัฐบาลนั้น ไม่น่าจะต้องประชุมลับแต่อย่างใด ควรประชุมเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนรับทราบการใช้จ่ายเงินงบประมาณตามนโยบายต่างๆ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เชื่อมั่นว่านายกฯสามารถชี้แจง ตอบข้อซักถามได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร และไม่น่ามีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือมีผลกระทบทางการเมืองต่อ รัฐบาล การอภิปรายทั่วไปเป็นเพียงการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ภายใต้การปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทุกอย่างน่าจะผ่านไปได้ด้วยดี

“ชวน” รอ ครม.เคาะวันซักฟอก

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการกำหนดวันอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า ได้มอบหมายให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว ต้องรอผลการประชุม ครม.ในวันที่ 3 ก.ย. ส่วนข้อเสนอให้เป็นการประชุมลับนั้น สามารถทำได้ตามกฎหมาย โดย ส.ส. หรือ ครม.เสนอมา ส่วนตัวไม่กังวลเรื่องกำหนดวันและเวลา เพราะเมื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้วต้องทำตามหน้าที่ ประเด็นการอภิปรายทั่วไปเป็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบ และที่มาของงบประมาณในการจัดทำนโยบายของรัฐบาล เมื่อมีผู้ถามก็ต้องมีคนตอบ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการประสานงานกัน เพื่อให้เกิดความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย

วิปชง ครม.วันซักฟอก 11–12 ก.ย.

ต่อมาเวลา 16.30 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ที่ประชุมมีมติเสนอกรอบวันอภิปรายทั่วไปในวันที่ 11 และ 12 ก.ย. เพื่อให้ ครม. เป็นผู้พิจารณาว่าจะให้เปิดอภิปรายในวันใด และจะอภิปราย 1 หรือ 2 วัน ต้องให้ ครม.เป็นผู้ตัดสิน วิปรัฐบาลไปกำหนดไม่ได้ ส่วนการอภิปรายนั้นที่ประชุมเห็นว่าควรให้เป็นการประชุมแบบเปิดเผย เพราะการประชุมลับไม่ใช่เรื่องฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของฝ่ายค้าน

เสนอควรประชุมแบบเปิดเผย

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล กล่าวว่า จะนำผลการหารือของวิปรัฐบาลเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันที่ 3 ก.ย. เพื่อพิจารณาว่าจะกำหนดวันอภิปรายทั่วไปในวันใด โดยอยู่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่เหลืออยู่ก่อนจะถึงวันปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เมื่อ ครม.กำหนดวันแล้ว จะนำไปหารือกับฝ่ายค้าน เรื่องกำหนดกรอบเวลาอภิปรายของแต่ละฝ่าย ส่วนการประชุมจะลับหรือไม่นั้น วิปรัฐบาลส่วนใหญ่เห็นว่าควรเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ เชื่อว่าผู้อภิปรายคงทราบว่าควรอภิปรายแบบไหน

เร่งส่งศาล รธน.ชี้ชะตา “ไพบูลย์”

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า วันที่ 4 ก.ย. จะไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยสถานภาพการเป็น ส.ส.ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนปฏิรูป กรณียื่นเรื่องขอเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูป แม้ กกต.มีมติเอกฉันท์ให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพพรรคการเมืองไปแล้ว แต่เนื่องจากสถานะของนายไพบูลย์ ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งเดียวที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งประมาณ 4.5 หมื่นคะแนน อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยพึงมี หากนายไพบูลย์จะไปสมัครเข้าพรรคอื่นพร้อมกับตำแหน่ง ส.ส.ด้วยนั้น อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะพรรคต่างๆล้วนมีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคอยู่แล้ว อีกทั้งคะแนนเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นคะแนนรวมของพรรคไม่ใช่ของนายไพบูลย์คนเดียว จึงไม่อาจโอนไปที่ไหนได้ ต้องสิ้นสุดไปตามการเลิกพรรค การเมือง และอาจทำให้การคิดคะแนนเฉลี่ยของพรรคการเมืองทั้งหมดเปลี่ยนไปด้วย

ห่วงเป็นโมเดลแบบอย่างที่ไม่ดี

นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าว น่าสงสัยว่าสมาชิกสภาพ ส.ส.ของนายไพบูลย์จะสิ้นสุดลงหรือไม่ จึงต้องยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาวินิจฉัยสถานะความเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อสิ้นสุดลงหรือไม่ เพื่อมิให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นโมเดลการยุบเลิกพรรคการเมืองอื่นในอนาคตที่อาจลอกเลียนแบบกันได้ อันขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้องการลงคะแนนให้พรรคการเมืองไปทำงานตามนโยบายที่หาเสียง ไม่ใช่เลือกไปให้ยุบเลิกพรรค เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าโดยไม่เห็นหัวประชาชน

จับสลากเลือกประธาน กมธ.

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดสรรสัดส่วนกรรมาธิการสามัญ 35 คณะของสภาผู้แทนราษฎรว่า เท่าที่ได้หารือกันเบื้องต้น พรรคเพื่อไทยจะได้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการ 10 คณะ พรรคพลังประชารัฐ 8 คณะ พรรคอนาคตใหม่ 6 คณะ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ พรรคละ 4 คณะ ส่วนที่เหลือ อาทิ พรรคเสรีรวมไทยเศรษฐกิจใหม่ ประชาชาติ จะได้พรรคละ 1 คณะ การเลือกคณะกรรมาธิการจะใช้วิธีการจับสลากเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

ตั้งทีมรองโฆษกเสริมงานสื่อสาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติแต่งตั้งทีมงานรองโฆษกพรรค ประกอบด้วย ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง สมาชิกพรรค น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด นายชุมสาย ศรียาภัย คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ สมาชิกพรรคกลุ่มเพื่อไทยพลัส โดยจะมีการแบ่งงานกระจายงานตามความรับผิดชอบที่แต่ละคนถนัด อาทิ ร.ท.หญิงสุณิสาจะเน้นงานการเมืองเชิงตอบโต้ นายชุมสายจะมาดูเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย นายรัฐภูมิมาดูเรื่องเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ที่เกี่ยวกับด้านเทคโนโลยี เป็นต้น โดยทีมรองโฆษกจะเข้ามาช่วยงานนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค สำหรับคณะทำงานโฆษกพรรค และรองโฆษกพรรค รวมทั้งหมด 6 คน

“บิ๊กตู่” ต้อนรับ “มุน แช–อิน”

วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้การต้อนรับนายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีและภริยา พร้อมนำตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ บริเวณลานหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ถือเป็นการเยือนไทยเป็นทางการครั้งแรกหลังได้รับตำแหน่ง และเป็นการเยือนไทยของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในรอบ 7 ปี จากนั้นได้ลงนาม สมุดเยี่ยมชมของที่ระลึก หารือข้อราชการกลุ่มเล็ก หารือข้อราชการเต็มคณะ และร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 6 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาเกาหลี ความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองข่าวสารทางทหารที่มีชั้นความลับ บันทึกความเข้าใจ ความร่วมมืออุตสาหกรรม 4.0 ความตกลงว่าด้วยการต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระบบราง และบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

รับปากเกาหลีสางปมผีน้อย

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์และนายมุน แช-อิน ร่วมกันแถลงข่าว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลและประชาชนชาวไทยยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับประธานาธิบดี มุน แช-อิน และภริยา เป็นนิมิตหมายที่ดี ภาคเอกชนจากเกาหลีกว่า 200 คน เข้าร่วมงานสัมมนาทางธุรกิจไทย-เกาหลีใต้ เพื่อผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือ RCEP ให้บรรลุผลสำเร็จ รื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย-เกาหลีใต้ (KOTCOM) ในปีนี้

รวมถึงความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง และการทหาร ไทยพร้อมแก้ปัญหาแรงงานไปทำงานเกาหลีให้ถูกกฎหมาย และยินดีจะเป็นประธานร่วมกัน ประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้สมัยพิเศษครั้งที่ 3 ในเดือน พ.ย.นี้ ที่นครปูซาน

ปธน.ซึ้งอดีตทหารไทยช่วยรบ

ด้านนายมุน แช-อิน กล่าวทักทายเป็นภาษาไทยว่า “สวัสดีครับ” ก่อนแถลงว่า ขอบคุณที่เชิญตนมาในฐานะผู้นำกลุ่มแรกในรัฐบาลชุดใหม่ และการต้อนรับที่อบอุ่น 2 ประเทศมีมูลค่าการค้า 14,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประชาชน 2.36 ล้านคน ไปมาหาสู่กัน ขอเป็นตัวแทนประชาชนเกาหลีคารวะความเสียสละทหารผ่านศึกไทย ที่เป็นประเทศแรกในเอเชียช่วยเกาหลีที่ตกอยู่ในภาวะคับขัน เกาหลีมีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ไทยกำลังดำเนินการ จะส่งเสริมให้ชาวไทยไปเกาหลีใต้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน จากนั้นนายมุน แช-อิน พร้อมภริยา ได้พบปะพูดคุยกับอดีตทหารร่วมรบสงครามเกาหลีระหว่างปี 1953 โดยเฉพาะ พ.อ. (พ) อาภรณ์ วุฑฒกนก ทหารร่วมรบสงครามเกาหลี 1952-1953 ได้ทักทายและกล่าวขอบคุณ พร้อมมอบเหรียญสันติภาพและของที่ระลึกให้กับตัวแทนทหารผ่านศึก 10 คน และทายาทอีก 2 คนอย่างเป็นกันเอง ก่อนเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติ ที่ตึกสันติไมตรี

ชื่นชมใช้เวลา 60 ปี ทำ ปท.รุ่งเรือง

ต่อมาเวลา 15.00 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมงาน “Thailand-Korea Business Forum” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหอการค้าและอุตสาหกรรมสาธารณรัฐเกาหลี มีนายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี และคณะนักลงทุนชั้นนำเกาหลี-ไทยกว่า 600 คนร่วมงาน โดยนายกฯกล่าวทักทายเป็นภาษาเกาหลีว่า “อันยองฮาเซโย” ก่อนปาฐกถาว่า ดีใจที่ประธานาธิบดีเกาหลีนำนักธุรกิจชั้นนำมาเยือนไทย ถือเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าไทยเป็นสถานที่ ที่เหมาะลงทุน ขอชื่นชมการพัฒนาของเกาหลีใต้ที่ใช้เวลาเพียง 60 ปี ทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองได้มาก ต่างจากหลายประเทศที่ใช้เวลาเป็น 100 ปี ก็ยังพัฒนาไม่เท่า เพราะชาวเกาหลีมีความรักชาติ เสียสละ มีจิตสำนึก สอดแทรกผ่านหนังและละคร “ผมเคยมีโอกาสเป็นผู้บังคับการกองพันพยัคฆ์น้อยไปรบที่เกาหลีมา และภาคภูมิใจจนถึงวันนี้ อยากให้ คนไทยดูเกาหลีเป็นตัวอย่าง” ทั้งนี้ในช่วงท้ายนายกฯกล่าวขอบคุณเป็นภาษาเกาหลีว่า “คัมซาฮัมนีดา”

พท.ห่วงส่งออกไทยทรุดยาว

ที่พรรคเพื่อไทย มีการจัดสัมมนาทางวิชาการหัวข้อ “ผลกระทบของสงครามทางการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา สถานะทางยุทธศาสตร์และการรับมือของไทย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ยิ่งไปกว่านั้นยังเผชิญกับผลกระทบสงครามการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจเพราะไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯและจีนจำนวนมาก ดังนั้นประชาชนต้องรู้เท่าทันและเตรียมพร้อม และต้องเข้าใจนโยบายการค้าของจีนที่ต้องยอมรับว่าในระยะหลังจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอาเซียนและโลก

“เทวัญ” จ่อชงนายกฯจ้อหน้าจอ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำเสนอรูปแบบรายการนายกฯพบประชาชนว่า ขณะนี้ยังไม่ได้นำเสนอรูปแบบรายการต่อนายกฯ โดยวันที่ 3 ก.ย. จะหารือกับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงรูปแบบรายการ จากนั้นจะให้นายกฯตัดสินใจว่าจะใช้รูปแบบอย่างไร เราคิดไว้หลายรูปแบบ ทั้งจะเป็นรายการประจำหรือเวลานายกฯลงพื้นที่แล้วมีคำถามเข้ามาเพื่อประชาชนรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลมากที่สุด