ปัญหาที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทน ราษฎร เพื่อตอบข้อซักถามของฝ่ายค้าน เกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณหรือไม่ อาจกลายเป็นประเด็นการเมืองเรื่องใหญ่ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด แม้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะรับญัตติของฝ่ายค้าน และเตรียมกำหนดวันประชุมก่อน 18 กันยายน
นายกรัฐมนตรีไม่ได้ตอบคำถามนักข่าวเกี่ยวกับการประสานงานวันเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติของพรรคฝ่ายค้าน ก่อนหน้านี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า จะบรรจุวาระดังกล่าวเป็นการเฉพาะ และเห็นว่า “รัฐบาลต้องมาชี้แจง” ทั้งญัตติดังกล่าวและทุกเรื่อง นายกรัฐมนตรีต้องมาเพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตย
นายชวนเป็นนักการเมืองที่อยู่ในวงการรัฐสภามาถึง 5 ทศวรรษ หรือประมาณ 50 ปี ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ครั้งแรกเมื่อปี 2512 ในช่วงเวลานั้นมีนายกรัฐมนตรีนับสิบคน มีทั้งนายกรัฐมนตรีประชาธิปไตยเต็มใบ ประชาธิปไตยครึ่งใบ และยุคเผด็จการ ที่แน่นอนที่สุดก็คือ นายกรัฐมนตรีช่วงการเลือกตั้งต้องเข้าประชุมสภา
คำกล่าวของนายชวนจึงเป็นการวิงวอนให้นายกรัฐมนตรี ได้ “ปฏิบัติหน้าที่” ของตน เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภา โดยปกติต้องเป็น ส.ส.และผู้นำพรรคที่มีเสียงข้างมาก แม้นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะให้นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ แต่ก็ต้องมีหน้าที่ต้องเข้าประชุมสภา โดยเฉพาะในวันที่มีเรื่องสำคัญ
ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีกลไกให้รัฐสภาตรวจสอบฝ่ายบริหารหลายอย่าง ตั้งแต่เบาไปหาหนัก การที่ ส.ส.ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นกลไกตรวจสอบขั้นต้น ขั้นต่อมาอาจขอเปิดอภิปรายโดยไม่มีการลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาของประชาชนให้รัฐบาลแก้ไข
มาตรการตรวจสอบขั้นรุนแรงที่สุด คือการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคลหรือเป็นคณะ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ได้คะแนนเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง ต้องพ้นจากตำแหน่งในทันที เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่จะต้องเข้าประชุมสภา เพื่อตอบข้อซักถามของ ส.ส. เช่นการตอบกระทู้ หรือญัตติ
...
พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมากว่า 5 ปี แต่ 5 ปีแรกเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ต้องให้สภาตรวจสอบ เพราะหัวหน้า คสช.เป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภา แต่บัดนี้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงข้างมากของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องปรับตัวให้เข้ากับประชาธิปไตยระบบรัฐสภา.