"ไพบูลย์" เดินหน้ายื่นยุบพรรคตัวเอง รับ คะแนนไม่ถูกโอนไปยังพปชร. พร้อมเสี่ยงหากจำนวนส.ส.พึงมีเปลี่ยนแปลง ด้านสมชัยจี้ กกต.เคลียร์ปัญหา หวั่นพรรคใหญ่ใช้เกมนี้ดึงพรรคเล็กสังกัด เชื่อจบที่ศาล รธน.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปยื่นยุบพรรคต่อ กกต. ว่า กรณีการยุบพรรค มี 2 กรณี คือ ยุบตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรคที่เห็นว่าไม่สามารถบริหารจัดการภายในพรรค เช่น มีหนี้สิน และไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้ จึงได้ยื่นยุบต่อ กกต. ซึ่งเมื่อพรรคถูกยุบพรรคแล้ว ส.ส.ยังมีสถานะความเป็น ส.ส.อยู่ โดยจะต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน แต่จะมีปัญหากรณีที่ ส.ส.เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมาจากคะแนนรวมทุกเขตของทั้งประเทศ ที่ถูกนำมาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.พึงมี

ดังนั้นคำถาม คือ ส.ส.ดังกล่าวจะไปอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่เท่าใดของพรรคการเมืองใหม่ที่ไปสังกัด เพราะจะมีปัญหาหากมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้น ที่จะต้องคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ซึ่งล่าสุดที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดนครปฐม

“ในกรณีของจังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 เป็นตัวอย่างได้ชัดเจนว่า เกิดการปรับเปลี่ยนจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค เพราะเมื่อคำนวณคะแนนใหม่ทั้งประเทศ มีพรรคพลังประชารัฐ และ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มพรรคละ 1 คน แต่พรรคที่ ส.ส.หายไป คือ พรรคไทรักธรรม แสดงให้เห็นว่าแม้คะแนนเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยสามารถสร้างผลกระทบได้” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าหากยุบพรรคของนายไพบูลย์แล้ว จะต้องนำคะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูปกว่า 45,000 คะแนนลบออก และนำไปคำนวณใหม่ ซึ่งนายไพบูลย์ สามารถไปสังกัดเฉพาะพรรคที่จะได้ ส.ส.พึงมี เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่า นายไพบูลย์ ต้องการจะไปอยู่พรรคนั้นหรือไม่ และพรรคนั้นจะยอมรับนายไพบูลย์หรือไม่ หากพรรคที่จะได้จำนวน ส.ส.เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ

...

นอกจากนี้ หากนายไพบูลย์ ได้ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ ถามว่า นายไพบูลย์จะแทรกลำดับของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะอย่างไรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.ของพรรคอย่างแน่นอน นอกจากนี้กรณีของนายไพบูลย์จะเข้าข่ายเป็นการควบรวมพรรคหรือไม่ เพราะพรรคประชาชนปฏิรูปมี ส.ส.เพียงคนเดียว ดังนั้นการที่นายไพบูลย์ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐจะเท่ากับการย้ายพรรค 100 เปอร์เซ็นต์

นายสมชัย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบตามมาอีกมากในทางการเมือง เนื่องจากพรรคใหญ่จะใช้วิธีการเดียวกันนี้ให้พรรคเล็กยุบ และดึง ส.ส.ของพรรคนั้นเข้ามาอยู่ในพรรคใหญ่ เพื่อเลี่ยงกฎหมายการควบพรรคการเมือง หรือพรรคเล็กอยากจะหนีความเสี่ยงว่าจะหลุดออกจากตำแหน่ง ส.ส.เพราะได้คะแนนรวมของพรรคต่ำไปสังกัดพรรคใหญ่แทน ซึ่งจะทำให้หลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายผิดเพี้ยนไปหมด จึงขอให้ กกต.นอกจากจะคิดในเชิงนิติศาสตร์แล้ว อยากให้มองในทางรัฐศาสตร์ที่จะมีผลกระทบที่ตามมาในภายหลัง ทั้งนี้เชื่อว่า ประเด็นดังกล่าวจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นเรื่องที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน จึงไม่มีบทบัญญัติใดๆ เกี่ยวกับกรณีนี้

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ได้เดินทางมาที่สำนักงาน กกต. โดยเปิดเผยว่า ได้มาเซ็นเอกสารในการแจ้งยุบพรรคเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ได้เซ็นชื่อในสำเนาบัตรประชาชน พร้อมมั่นใจว่าการยื่นครั้งนี้น่าจะสามารถดำเนินยุบเลือกพรรคประชาชนปฏิรูปได้ เพราะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย และทันทีที่ กกต.ประกาศยุบพรรคในราชกิจจานุเบกษา ตนก็จะเดินทางไปสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐทันที โดยยอมรับว่าไม่สามารถนำคะแนนของพรรคประชาชาปฏิรูปโอนไปให้พรรคพลังประชารัฐได้ และหากภายใน 1 ปีมีการเลือกตั้งใหม่ มีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ คะแนนของพรรคที่มีอยู่กว่า 45,000 คะแนน ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้ ส.ส. ก็ยินดีที่จะพ้นจากตำแหน่ง

นายไพบูลย์ ยังกล่าวว่า บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่การที่ตนไปสมัครทำให้จำนวน ส.ส.ของพรรคเพิ่มเท่านั้น ไม่ได้ไปอยู่ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ อย่างไรตาม การที่ตนย้ายพรรคในครั้งนี้เพราะการยุบเลิกพรรค แต่ไม่ได้เพราะหนีความเสี่ยงที่จะหลุดจาก ส.ส. เพราะคะแนนของพรรคตนยังอยู่ในเซฟโซน.