สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นำคณะ พบพี่น้องประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปัตตานี รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอของประชาชน เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 37

วันที่ 16 ส.ค. เวลา 14.00 น. ณ ห้องขวัญจุฑา 2 โรงแรม ปาร์ควิวรีสอร์ท  อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ได้มีการจัดกิจกรรมสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน  โดยสมาชิกวุฒิสภา มี พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ พลเอกบุญธรรม โอริส นายอับดุลฮาริม มินซาร์ นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ นายธานี สุโชดายน นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา นายสวัสดิ์ สมัครพงศ์และ รองศาสตราจารย์ประเสริฐ  ปิ่นปฐมรัฐเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมด้วย นายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคมและผู้นำประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่เข้าร่วมประชุม 

สำหรับโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน เป็นไปตาม มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.2560 ที่ได้กำหนดไว้ว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ จะต้องมีการฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ก็ต้องมีการประเมินผลสัมฤทธ์ิ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ด้วยเพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ในสังคม ซึ่งเป็นหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาโดยตรง จากนี้ไปจะมีโครงการสมาชิกวุฒิสภา พบประชาชนในทุกภูมิภาค เพื่อรับฟังข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อกลั่นกรองข้อกฎหมายและเพื่อให้การปฏิรูปประเทศของรัฐบาลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยการพบประชาชนของสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้ นอกจากเป็นการแนะนำให้ประชาชนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ยังได้รับฟังข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อีกด้วย

...

ประเด็นสำคัญที่ประชาชนนำเสนอ 1. ขอให้ทบทวนการสร้างอ่างเก็บน้ำลำพระยา อ.เมือง จ.ยะลา เนื่องจากจะกระทบพื้นที่ทางการเกษตรของชุมชนไทยพุทธ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ต้องอพยพถิ่นฐาน กระทบสุสานบรรพชนทั้งชาวพุทธและมุสลิม โดยขอให้ผู้ใหญ่ลงพื้นที่ ชาวบ้านต้องการให้ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม ซึ่งมีอยู่แล้ว 2 แห่ง มากกว่าการสร้างใหม่ 2. นโยบายส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ การสร้างนวัตกรรม ด้วยการบรรจุครูสายวิทย์..ให้เงินอุดหนุนสายวิทย์ 3,000 บาทต่อคน ทั้งที่ไม่มีนักเรียน ขณะที่ไม่สนับสนุนสายสังคม ตัดงบประมาณ ทั้งที่เด็กในพื้นที่ต้องการเรียนสายสังคมจำนวนมาก ไม่บรรจุครูสายสังคม เงินสนับสนุนแค่ 800 บาทต่อคน 3. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนโรงงานแปรรูปมะพร้าว ท่าเรือนราธิวาส เพื่อขนส่งสินค้า และ 4. สนับสนุนสร้างโรงงานกำจัดขยะ โดยเฉพาะที่ อ.โกลก จ.นราธิวาส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :