การใช้วาจาสร้างความเกลียดชังหรือเฮทสปีช เป็นปัญหารุนแรงเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย หลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยมีเป้าหมายแบ่งแยกมวลชนให้มาสนับสนุนหรือเชื่อคล้อยตามในแนวคิดหรืออุดมการณ์ของฝ่ายตัวเอง โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์มีการใช้วาทกรรมยั่วยุ ปลุกเร้า ปลุกปั่น ปลุกระดม
กลายเป็นหัวข้อสัมมนาเรื่อง “เฮทสปีช บนโลกออนไลน์ บาดแผลร้ายที่ใครต้องรับผิดชอบ” จัดโดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สังคม
โดยพิรงรอง รามสูต นักวิชาการประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ระบุถึงงานวิจัยปี 2553 ช่วงการเมืองร้อนแรงพบว่า เกิดเฮทสปีชจากปมการเมืองและช่วงเลือกตั้งปี 2562 เฮทสปีชก็กลับมาอีกครั้ง โดยเกิดข่าวลวงเยอะมาก แชร์ส่งต่อกันและทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อมุ่งให้กระทบกับมติมหาชนเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
การสร้างความเกลียดชังมีพฤติการณ์ ทั้งการใช้คำพูด ข้อเขียน การแสดง ออกเชิงสัญลักษณ์รูปแบบอื่นๆต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยมุ่งโจมตี แสดงความเกลียดชัง ประจาน สบประมาท ข่มขู่ผู้ถูกกล่าวถึงอย่างร้ายแรง โดยมีฐานอคติเกี่ยวกับคุณลักษณะอื่นๆที่นำไปสู่การแบ่งแยก อาทิ อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น
ล่าสุดเห็นได้ชัดช่วงพรรคการเมือง 2 ฝ่ายกำลังรวบรวมเสียง เพื่อชิงธงนำจัดตั้งรัฐบาลครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่มาจากการเลือกตั้ง นักการเมืองบางกลุ่มพยายามผลิตวาทกรรมเข้าข่ายเป็นเฮทสปีช เพราะมีวาระแอบแฝงต้องการตอกลิ่มแบ่งแยกมวลชน โดยมีฝ่ายที่ถูกเรียกว่าเป็นประ-ชาธิปไตยและฝ่ายที่ถูกเรียกว่าต่อท่ออำนาจ
ทั้งที่การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ การยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การเป็นปฏิปักษ์ การใช้ความรุนแรง ย่อมเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดกติกาเอาไว้ในหมวดว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่สำคัญยังเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง นำไปฟ้องเพื่อขยายผลทางการเมือง
...
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเฮทสปีชกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการสร้างความขัดแย้งในสังคม เป็นปัญหาต่อการสร้างความปรองดอง ถึงเวลาที่ฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาลควรทำตัวเป็นแบบอย่าง หยุดผลิตวาทกรรมเฮทสปีช โดยเฉพาะบรรดา ส.ส. ก่อนปฏิรูปการเมือง ควรเริ่มต้นปฏิรูปตัวเองก่อน เพื่อร่วมมือกันเดินหน้าประเทศไทย.