ใจจดใจจ่อใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี คนต่อไป ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และหัวหน้า คสช. แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ หรือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกหยุดให้ทำหน้าที่ส.ส.ชั่วคราว จากปมถือหุ้นสื่อ ถูกเสนอชื่อโดย 7 พรรคประชาธิปไตย

ขณะที่การประชุมรัฐสภาร่วมกันระหว่าง ส.ส. จำนวน 500 คน และส.ว. 250 คน เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีทีท่าเข้าสู่ขั้นตอนการลงคะแนน เนื่องจากมีการอภิปรายสลับกันไปมาระหว่างพรรคการเมืองทั้ง 2 ขั้ว เรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี คาดกันว่าน่าจะมีการยืดเยื้อยาวนาน

หากประเมินจากเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นไปได้มากๆ จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง จากการขานชื่อของส.ส.และ ส.ว. ทีละคน รวม 750 เสียง ในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 นั่นหมายความว่า โอกาสของนายธนาธร จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดูริบหรี่ลง ยกเว้นจะมีเหตุไม่คาดคิด เกิดการพลิกล็อกอย่างมหันต์ นายธนาธร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ในการพาประเทศไปข้างหน้า เป็นประเทศโลกที่ 1 ตามที่ได้แสดงวิสัยทัศน์นอกสภา

...

ทุกอย่างพลิกผันได้ "ทีมเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" พูดคุยกับรศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ยก 10 ข้อ โอกาสนายธนาธร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้เปอร์เซ็นต์จะน้อยมากก็ตาม

  • 1. จากเกมการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ทำได้ดี มีการเชื่อมต่อการเมืองในสภากับนอกสภา โดยมีนายธนาธร เคลื่อนไหวอยู่นอกสภา ทำหน้าที่ได้ดีเช่นกันในการแสดงวิสัยทัศน์ดึงความสนใจจากสังคม ทำให้ดูเหนือกว่าพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งยืนกรานไม่แสดงวิสัยทัศน์มาตั้งแต่แรก

  • 2. เสียงส.ว.ส่วนใหญ่ โหวตให้พล.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งเป็นการทำลายความชอบธรรมของส.ว. โดยเฉพาะการเดินเกมของพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ออกมาอภิปรายหยิบยกว่าเป็นการใช้อำนาจขัดกันแห่งผลประโยชน์ ในมาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญ

  • 3. กระบวนการทำงานในการเชื่อมนอกสภากับในสภาของพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ยังมีแนวร่วมเป็นกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเอาความคิดเห็นประชาชนมาอภิปรายในสภา

  • 4. ความเพลี่ยงพล้ำของพรรคพลังประชารัฐ อาจไม่วางยุทธศาสตร์ในการตอบโต้ในสภากับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม มีเพียงการหวังผลการยกมือสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมสภา จะเห็นพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ใช้พื้นที่มากกว่าในการอภิปราย

  • 5. การดึงเกมในสภาให้ยืดเยื้อของพรรคฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อไม่ให้ได้ข้อยุติในวันที่ 5 มิ.ย. เพื่อสร้างกระแสสังคมกดดันการทำหน้าที่ของ ส.ว. ไม่ให้โหวตสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ คาดอาจมีส.ว. ประมาณ 50 คนมีความลังเล แต่สุดท้ายแล้วเสียงของส.ว.ทั้ง 250 คน ยังคงเป็นเอกภาพ

  • 6. ความพยายามในการยิงเกมในสภาให้เกิดความวุ่นวาย และสุดท้ายต้องปิดประชุม เพื่อหาข้ออ้างปลดล็อกตามมาตรา 272 วรรค 2 เปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอก

  • 7. การยื่นคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

  • 8. กรณีพล.อ.ประยุทธ์ เปิดช่องทางสื่อสารกับสาธารณชนในรูปแบบเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ รวมถึงเว็บไซต์ส่วนตัว อาจเข้าข่ายเป็นเจ้าของกิจการสื่อ เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมีการเคลื่อนไหวอีก

  • 9. อาจมีงูเห่า ประมาณ 20 เสียง พลิกผลโหวตไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นไปได้ยากมาก เพราะยังมีเสียงส.ว.มาช่วยสนับสนุน

  • 10. พล.อ.ประยุทธ์ ถอดใจเอง หลังถูกอภิปรายหนักเรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แม้เข้าสู่อำนาจจากการรัฐประหาร ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ควบคุมประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวปี 57 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 60 ประกาศใช้ จึงถือว่าอำนาจหน้าที่หัวหน้า คสช. จบลง ซึ่งจะอ้างรัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้ ดังนั้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงอยู่ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ.