ตามความคาดหมายที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจาก ส.ส. เพราะมติพรรคกับอดีตหัวหน้าพรรค ไม่ได้ไปในเส้นทางเดียวกันในการร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ ที่เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ไล่เรียงเหตุผลการลาออกจาก ส.ส. เน้นย้ำการรักษาคำพูดต่อประชาชน เป็นสัญญาประชาคมที่เหนือกว่ามติพรรค และหัวหน้าพรรคต้องรักษาเกียรติภูมิตัวเอง ไม่ใช่ให้พรรครักษาเกียรติภูมิให้ ในตอนท้ายที่ “อภิสิทธิ์” จัดชัดการลาออกครั้งนี้เพราะไม่อยากทำบาป
บาปที่ว่านั้น คือ บาปข้อหนึ่ง ในบาป 7 ประการทางสังคม ที่นายอภิสิทธิ์ยกคำสอนมาจากมหาตมะ คานธี โดยระบุว่า “คานธี เคยส่งจดหมายถึงหลาน พูดถึงบาป 7 ประการ หนึ่งในนั้นคือ การเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นต้องตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากนี้เป็นต้นไป”
นักเขียนหนังสือเกี่ยวกับบาป 7 ประการ ดอกเตอร์ สตีเฟ่น อาร์. โคเวย์ ได้เขียนหนังสือโดยหยิบยกเกี่ยวกับบาป 7 ประการที่คานธีเคยสอนไว้ เพื่อสื่อสารถึงการกระทำของผู้นำ ที่บาปทั้ง 7 ประการนี้เป็นสิ่งที่ทำลายสังคม ประโยคคำภาษาอังกฤษที่เขียนไว้มีดังนี้
Politics without principles.
Pleasure without conscience.
Wealth without work.
Knowledge without character.
Commerce without morality.
Science without humanity.
Worship without sacrifice.
นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ อาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ปราชญ์ไทยผู้เชี่ยวชาญภารตวิทยาและภาษาฮินดี ได้ถอดความ “บาป 7 ประการในทัศนะคานธี” ไว้เป็นภาษาไทยในหนังสือ “ข้าพเจ้าทดลองความจริง : อัตชีวประวัติของมหาตมา คานธี” ดังนี้
...
เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ
หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด
ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน
มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี
ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลธรรม
วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์
บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ