ตื่นเต้นระทึกใจเข้ามาทุกที ลุ้นกันตัวโก่งตัวงอว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งประชาชนทั่วๆ ไปอาจจะไม่ทราบว่าขั้นตอนที่มากว่าจะสะเด็ดน้ำได้นายกฯใหม่ ต้องผ่านการคัดเลือกโดยใครอย่างไร ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ จะนำมาแจกแจงให้ทราบเป็นขั้นตอน 

ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ตามที่ปรากฏในข้อบังคับ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2560 

         
 1.ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ ส.ส. โหวตลงคะแนนเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมาจากพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ นั่นหมายถึง พรรคที่จะเสนอชื่อนั้น ต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 25 คน จาก ส.ส. เต็มสภาฯ จำนวน 500 คน 

 2.การเสนอชื่อผู้ใดเข้าสู่การโหวต จะต้องมีเสียง ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส. ที่มีอยู่ หมายถึง ต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 50 คน จากทั้งหมด 500 คน

 3.การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะกระทำโดยเปิดเผย โดยเลขาธิการรัฐสภา จะขานชื่อ ส.ส. และ ส.ว. เรียงตามลำดับอักษร เพื่อให้ออกเสียง เห็นชอบ, ไม่เห็นชอบ หรือ งดออกเสียง

4. มติเห็นชอบ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด คือจำนวน ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเท่ากับ 750 คน ดังนั้น ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่า 376 เสียง

5. หากผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ยังมีคะแนนไม่เกินครึ่งหนึ่ง ต้องให้สมาชิกออกเสียงลงคะแนนเลือกใหม่ จนกว่าจะมีผู้ที่มีคะแนนสูงสุด และมีคะแนนเสียงมากกว่า 376 เสียง 

 
ขอบคุณข้อมูล จาก ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2560

...

7 แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย เข้าวิน 3 รายชื่อ

และสำหรับ 7 แคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคมี ส.ส.มากกว่า 25 คน ประกอบไปด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ 2.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย 4.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย 3 คน คือ 5.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 6.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 7.นายชัยเกษม นิติสิริ

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรค 1 กำหนดว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมาตรา 159 ซึ่งจะทำการเลือกนายกรัฐมนตรี ในบัญชีชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88 และต้องเป็นบัญชีชื่อของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือไม่น้อยกว่า 25 คน และผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา

นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

ในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี จะต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งปัจจุบันรัฐสภา มีสมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย สมาชิกวุฒิสภา 250 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน รวมเป็น 750 คน ครบแล้ว

แต่เนื่องจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และ นางจุมพิตา จันทรขจร ส.ส.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ ยังรักษาตัวจากอาการป่วย หากไม่ทันในวันที่ 5 มิถุนายน จะทำให้สมาชิกรัฐสภามี 748 คน เป็น ส.ส. 498 คน และ ส.ว. 250 ซึ่งเสียงของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือต้องมากกว่า 375 เสียง

ถ้าเลือกไม่สำเร็จ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องรักษาการจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

การดำเนินการในสภา จะมีการลงคะแนนรอบเดียว ขานชื่อคนที่ 1-750 กรณีมีแคนดิเดตมากกว่า 1 คน ส.ส.และ ส.ว. จะออกเสียงโดยออกชื่อคนที่เลือก เท่ากับว่า สมาชิกสภา 1 คน จะเลือกใคร หรืองดออกเสียงได้แบบเดียว

หาก 5 มิถุนายน ยังเลือกนายกฯ ไม่ได้ ต้องปิดประชุมเลือกใหม่ เพราะมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ ระบุว่า หากการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการไปได้ตามขั้นตอน จะต้องสั่งปิดการประชุมเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรี ตามวรรค 2 ที่ให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อจากนายกรัฐมนตรีที่มีชื่อในบัญชีพรรคการเมือง ประธานรัฐสภาต้องนัดประชุมใหม่ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติให้ได้เสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกที่มีอยู่สองสภา (500 เสียง) ให้ยกเว้นได้ ก็จะเปิดทางให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่อาจยังอยู่ในบัญชีพรรคการเมืองหรือคนนอกบัญชีได้ หากการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่เสร็จสิ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รักษาการจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

ไม่กำหนดเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรี

ข้อแตกต่างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับฉบับปี 2550 คือ ฉบับปัจจุบันไม่กำหนดเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ ขณะที่ฉบับปี 2550 กำหนดเวลาไว้ 30 วัน หากพ้น 30 วัน ยังไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับเดิมผู้โหวตเลือกนายกฯ คือ ส.ส.เท่านั้น ไม่มี ส.ว. 250 คน มาร่วมโหวตด้วยเหมือนในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่นี้

โดยระหว่างเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังไม่ได้และไม่มีเวลากำหนดไว้ ซึ่งอาจจะกินเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ใครจะบริหารประเทศ คำตอบคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.จะยังทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ โดยยังมีอำนาจเต็ม และมีอำนาจมาตรา 44 จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน.