ใครเป็นใครได้รู้กัน...
5 มิถุนายน 62 เป็นอีกวันสำคัญทางการเมือง เนื่องจากได้มีการนัดหมายประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ส.ส. 500 คน วุฒิสมาชิก 250 คน จะใช้สิทธิลงคะแนน
ว่ากันตามหน้าเสื่อแล้วตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกได้กำหนดให้การได้มาซึ่งนายกฯนั้น จะต้องมาจากรายชื่อแคนดิเดตของแต่ละพรรคที่เสนอชื่อ
ในจำนวนนี้ ปรากฏว่าจำนวนรายชื่อดังกล่าวมีดังนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย
ทั้งหมด 7 คนเท่านั้น เพราะพรรคอื่นๆไม่เข้าหลักเกณฑ์ จึงหมดสิทธิไปโดยปริยาย แต่ในจำนวนนั้น
...
ยังมีบางพรรคบางขั้วที่ยังมีปัญหาคือ เพื่อไทยก็ยังไม่ชัดเจนว่าที่สุดแล้วจะเอาใครกันแน่ หรือเพราะมีอยู่ 3 รายชื่อ กรณีของนายธนาธรซึ่งยังมีปัญหาว่าจะไปถึงได้หรือไม่ เพราะยังอยู่ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยคดี “หุ้นสื่อ” อยู่
สถานภาพยังไม่ชัดเจน ขณะนี้ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่
ว่ากันตามหน้าไพ่โอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ มีมากที่สุด เนื่องจากเสียงสนับสนุนในส่วน ส.ส. และ ส.ว.น่าจะเกินครึ่งหนึ่ง
เพียงแต่ว่าจะได้คะแนนสูงสุดแค่ไหนเท่านั้น
แต่เกมการเมืองเรื่องรัฐบาลย่อมเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับการโหวตนายกฯ ที่จับตามองกันมากที่สุดคือ ประชาธิปัตย์
เนื่องจากเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในและความเชื่อมต่อในการตั้งรัฐบาลที่ยังตกลงกันไม่ได้ ทำให้ยังไม่ยืนยันว่าจะร่วมกับพลังประชารัฐหรือไม่
อีกด้านหนึ่งคือ การที่ประชาธิปัตย์ไม่มีมติในการเลือกนายกฯด้วย
การที่ประชาธิปัตย์ไม่มีมตินั้นส่งผลอยู่ 2 ทางคือ ไม่แน่นอนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้พลังประชารัฐเกิดความไม่มั่นใจ
อีกด้านหนึ่งเท่ากับว่าให้ความเป็นอิสระของลูกพรรคในการตัดสินใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
เท่ากับว่าใครเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ว่ากันไป ใครไม่สนับสนุน ก็ไม่ต้องยกมือให้
ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการขัดมติพรรค แต่มีประเด็นให้พิจารณาก็คือ การที่พลังประชารัฐยกมือสนับสนุนให้นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคเป็นประธานสภาผู้แทนฯ
นี่คือเงื่อนปมที่ประชาธิปัตย์ต้องคิดหนักไม่น้อย
ยิ่งมีความเห็นของประชาชนจากผลการสำรวจระบุว่า ปัญหาที่ทำให้ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยระบุว่าเพราะเบื่อหน่ายและเกิดความแตกแยกภายใน
ดังนั้น การตัดสินใจต่อไปนี้จึงต้องฟังเสียงประชาชนด้วย ไม่ใช่คิดแต่ประโยชน์ของพรรคเพียงถ่ายเดียว
เพราะมันเหมือนสัญญาณบอกเหตุสำหรับอนาคตข้างหน้า
อีกขั้วคือ 7 พรรคขั้วเพื่อไทยนั้น จะตัดสินใจอย่างไรต่อการช่วงชิงเก้าอี้นายกฯ ซึ่งคงจะยุ่งยากไม่ใช่เล่น พูดง่ายๆว่าเพื่อไทยจะส่งตัวแทนเองหรืออนาคตใหม่จะหนุนนายธนาธรหัวหน้าพรรค
หรือแม้แต่ 250 ส.ว.จะฉีกไปเลือกคนอื่นไม่ใช่ พล.อ.
ประยุทธ์ก็จะได้รู้กันว่าใครเป็นใคร เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยงพ้น เนื่องจากต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย
ทำอะไรกันอย่าคิดว่าประชาชนจะไม่รู้นะครับ...
“สายล่อฟ้า”