พท.ดันสมพงษ์ผู้นําฝ่ายค้าน สายอีสานยังมีความพยายาม เข็นเจ๊หน่อยชิงเก้าอี้นายกฯ
พปชร.ยังนั่งรอคำตอบ ปชป. “สนธิรัตน์” ยันให้ความสำคัญนโยบายทุกพรรคนำไปขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน หวังตั้งรัฐบาลได้ในเร็ววัน ปชป.ยังกั๊กไว้เชิงรอดูท่าที พปชร. เชื่อร้อนใจอยากให้จบก่อน 5 มิ.ย. บีบคอ “บิ๊กตู่” ออกมาพูดชัดๆ จะแก้ รธน. เพื่อไทยลุยหนุน “สุดารัตน์” ชิงนายกฯตามที่หาเสียงไว้ เสนอชื่อ “ธนาธร” เหมือนหลอกต้มชาวบ้าน เล็งงัดคุณสมบัติ “บิ๊กตู่” ขวางเบิ้ลนายกฯ ชื่อ “สมพงษ์” ยังเต็งเป็นหัวหน้า พท.-นั่งผู้นำฝ่ายค้าน อนาคตใหม่ยันชงชื่อ “ธนาธร” เป็นนายกฯ แต่พร้อมหารือแนวร่วมปรับเปลี่ยน บี้ “บิ๊กตู่” โชว์วิชั่น เย้ยคนเชลียร์เยอะแน่ ส.ส.ต้องเตรียมเครื่องดื่มไว้แก้เลี่ยน โพลชี้ “บิ๊กตู่” ยังเหมาะนั่งนายกฯ อึดอัดเกมต่อรองตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ ขอพรรคใหญ่เลิกเห็นแก่ตัว-พรรคกลางรักษาคำพูด “นิด้าโพล” เผยคนเบื่อลีลา ปชป. แตกแยก ต่อรอง อ้างอุดมการณ์ “ราเมศ” เต้นโต้ทันควัน จุดยืนชัดผลงานเพียบ
ยังตั้งแง่ต่อรองกันในการร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยพรรคประชาธิปัตย์ออกอาการไม่พอใจที่การเจรจาไม่คืบหน้าแต่เหมือนต้องมาตั้งต้นกันใหม่ พร้อมเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจตัวจริงมาหารือให้เป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันต่างฝ่ายต่างดูท่าที โยนให้อีกฝ่ายแสดงความชัดเจนออกมาก่อน
พปชร.นั่งรอคำตอบพรรคร่วม
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงความคืบหน้า ในการจัดตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐกำลังพยายามเดินหน้าอย่างถึงที่สุดที่จะให้มีการตั้งรัฐบาลโดยเร็วตามที่พี่น้องประชาชนคาดหวัง พรรคพลังประชารัฐได้ประสานงานไปยังพรรคร่วมที่มีอุดมการณ์ในทิศทางเดียวกันหมดแล้ว อยู่ระหว่างรอการตัดสินใจของพรรคการเมืองเหล่านั้น หวังว่าจะได้รับคำตอบในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันต้องขอขอบคุณบรรดาพรรคการเมืองที่ได้ประกาศร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐมาแล้ว ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐดำเนินการเจรจาภายใต้ระบบพรรค การเมืองต่อพรรคการเมือง โดยให้ความสำคัญกับนโยบายของทุกพรรคการเมืองซึ่งจะนำไปขับเคลื่อนสู่พี่น้องประชาชนและแก้ปัญหาของประเทศร่วมกัน อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าจะมีข้อยุติในการพูดคุย จนสามารถดำเนินการประกาศจัดตั้งรัฐบาลได้ในเร็ววันนี้
...
ปชป.ชี้ พปชร.ร้อนใจอยากจบเร็ว
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเข้าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ต้องฟังเสียงประชาชนที่ตั้งตารออยู่ว่าการจัดรัฐบาลจะส่งผลอย่างไรต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เขาคงอยากจบก่อนวันที่ 5 มิ.ย.อยู่แล้ว พลังประชารัฐต้องทำให้จบเร็วที่สุด เพราะรู้ว่าประชาชนเป็นห่วงการเดินหน้าประเทศว่าจะยุติอย่างไร ส่วนข้อยุติมีหลายทาง อาทิ พลังประชารัฐอาจเป็นรัฐบาลตั้งคนเป็นนายกฯไปก่อน โดยอาจไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยก็ได้ แต่เส้นทางนี้จะบริหารได้มีประสิทธิภาพเพียงไรขึ้นอยู่กับพรรคเขาจะคิด
บีบคอ “บิ๊กตู่” ออกมาเปรยแก้ รธน.
“พลังประชารัฐจะต้องตอบพรรคร่วมให้ชัดทุกประเด็น เช่น เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องจริงใจ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกให้กับประเทศ รวมถึงข้อเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนก็ต้องได้รับการตอบรับด้วย ภารกิจครั้งนี้เป็นของพรรคที่เป็นแกนนำ ตั้งรัฐบาลทั้งสิ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพลังประชารัฐด้วย ทางที่ดี พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องออกมาแสดงความชัดเจนว่า จะเป็นผู้ที่จะขับเคลื่อนการแก้รัฐธรรมนูญ โดยอย่างน้อยต้องแก้ข้อจำกัด เพื่อหาวิธีทำให้แก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ทำแบบนี้ได้ จะเป็นการเริ่มต้นเดินหน้าประเทศที่มีความสวยงาม และเป็นที่ยอมรับ”
เขารอเราก็รอ–ยังยักท่าดู พปชร.
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าถ้าการเจรจาไม่ลงตัว มีความเป็นไปได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจจะเลือกไปเป็นฝ่ายค้าน นายสาธิตตอบว่า ทุกอย่างเป็น ไปได้หมด เพราะไม่มีใครกำหนดได้จริงๆ จะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลนั้นขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมร่วมกันของกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.พรรค ซึ่งยังไม่กำหนดว่าจะประชุมร่วมกันวันไหน เพราะยังไม่ได้คำตอบชัดเจนจากพลังประชารัฐ แต่ในวันประชุมอาจมีคนเสนอว่า ถ้ามีปัญหามาก ไปร่วมกับพลังประชารัฐแล้วไม่เกิดประโยชน์ หรืออาจมีคนเสนอให้พรรคเป็นฝ่ายค้าน เพราะมองว่าถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่มีเราก็สามารถโหวต พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯได้ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้เสนอให้ที่ประชุมต้องพิจารณาลงมติ อย่างไรก็ตามกรรมการบริหารพรรคสแตนด์บายอยู่ตลอด หากมีความชัดเจนจากพรรคพลังประชารัฐเมื่อไหร่ก็พร้อมเรียกประชุมได้ทุกเมื่อ
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04OWEmemUps5Cv9mUoVjLY5nAALY4FCr.jpg)
เพื่อไทยดัน “สุดารัตน์” ชิงนายกฯ
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยและ ส.ส.พรรคเพื่อไทย วันที่ 4 มิ.ย. ตนจะเสนอชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ชิงตำแหน่งนายกฯกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เนื่องจากมีเหตุผล 4 ข้อที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม คือ คุณหญิงสุดารัตน์เป็นแคนดิเดตนายกฯลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทยที่ชูตอนเลือกตั้ง และทำให้พรรคชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.มาเป็นที่ 1 พวกตนในฐานะ ส.ส. อีสานพรรคเพื่อไทยที่มีถึง 84 ที่นั่ง จะยกมือให้คุณหญิงสุดารัตน์เหมือนตอนหาเสียง ที่สำคัญคุณหญิงสุดารัตน์มีความรู้ ความสามารถ พูดจาดี เป็นรัฐมนตรีและ ส.ส.มาแล้วหลายสมัย หากพรรคไม่เสนอชื่อคุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกฯ ตนจะตอบคำถาม คนอีสานไม่ได้ และคงกลับบ้านไม่ได้ เพราะตอนหาเสียงพูดมาตลอดว่าจะเอาคุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกฯหญิงคนที่สองของประเทศ
หนุน “ธนาธร” เหมือนต้มชาวบ้าน
นายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น ส.ส.และเป็นวิปของพรรค จะเสนอชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ ชิงตำแหน่งนายกฯ เพราะพรรค เพื่อไทยได้รับเลือกจากประชาชน ได้ ส.ส.มาเป็นลำดับที่ 1 จึงเป็นความถูกต้องชอบธรรมที่จะนำเสนอ และช่วงหาเสียงพรรคเพื่อไทยได้ชูคุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกฯมาตลอด ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดๆที่จะไม่เสนอชื่อ การไปเสนอชื่อคนอื่นต่างหากเป็นสิ่ง ที่ไม่ถูกต้อง การที่ดูเหมือนยังมีความเห็นแตกต่าง ภายในพรรค เพราะยังไม่มีเวทีพูดคุยเรื่องนี้เป็นเรื่อง เป็นราว ดังนั้น วันที่ 4 มิ.ย. ทุกอย่างจะชัดเจน ทั้งนี้ถ้าคุณหญิงสุดารัตน์ยืนกรานว่าจะไม่ขอเป็นผู้ถูกเสนอชื่อก็ถือเป็นสิทธิ์ พรรคก็ต้องเสนอชื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นลำดับต่อไปตามขั้นตอน ถ้าจะไปเสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คงไม่เหมาะสม เพราะผิดหลักการ จะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต เหมือนไปหลอกลวงชาวบ้าน ผิดคำพูดที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน
งัดปมแก้ รธน.ตีปลาหน้าไซ
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 7 พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งมี 246 เสียง ประกาศย้ำจุดยืนเสมอว่าจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง จะให้สิทธิโหวตเลือกนายกฯเฉพาะ ส.ส.เท่านั้น และจะต้องเร่งฟื้นฟูแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องโดยเร็ว ส่วนการเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯจะได้ข้อสรุปหลังการหารือร่วมของ 7 พรรค จะรู้ชื่อก่อนวันที่ 5 มิ.ย. และยังไม่เคย ได้ยินว่าพรรคพลังประชารัฐซึ่งมี 116 เสียง ประกาศต่อสาธารณชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นทุกพรรคที่จะมีมติร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐควรไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะถูกหลอก โดยต้องคำนึงถึงเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ มติของทุกพรรควันที่ 4 มิ.ย. จะเป็นการตอบประชาชนว่าจะมีพรรคใดบ้างที่จะร่วมสืบทอดอำนาจ คสช. ประชาชนจะได้ให้บทเรียนในการเลือกตั้งครั้งหน้า
อ้าง “บิ๊กตู่” มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิ.ย. นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นการเลือกที่พิเศษแตกต่างจากอดีตเพื่อการสืบทอดอำนาจหรือไม่คงไม่ต้องเถียงให้เมื่อยปาก กติกาที่เห็นกันชี้ชัดอยู่แล้ว ดูเหมือนจะเป็นงานสบายหมูๆ แต่เป็นงานหินเอามากๆ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ถูก เสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี แสดงว่าบุคคลที่รัฐสภาจะพิจารณามีมติให้เป็นนายกฯนั้น ต้องพิจารณาก่อนว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งปัญหาการดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ต้องห้ามไม่ให้เสนอให้เป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้ฟันธงยุติชัดเจน ถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐแล้วจะเป็นอะไร รัฐสภาจะต้องวินิจฉัย ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ กกต. ก็ไม่ใช่องค์กรวินิจฉัยตีความที่จะเป็นข้อยุติสิ้นสุดผูกพันองค์กรอื่นๆ
จ่อร้อง ส.ว.ผลัดกันเกาหลัง
นายชูศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาต่อมาคือการที่ ส.ว.ที่จะไปใช้สิทธิเลือกนายกฯ ในรัฐสภามีปัญหาการสรรหาที่ถูกกล่าวหาว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญกรรมการสรรหาไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เป็นกลางทางการเมือง เรื่องใหญ่มากๆ คือการที่หัวหน้า คสช.เป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ โดยพรรคการเมือง จึงเกิดปรากฏการณ์ไม่ยอมเปิดเผยกรรมการสรรหา ผู้เป็นกรรมการสรรหาไปเป็น ส.ว.เสียเอง เข้าทำนองผลัดกันเกาหลังชงเองกินเอง ส.ว.ผู้โหวตได้กระทำการอันขัดกันแห่งผลประโยชน์มีสิทธิถูกร้องว่า กระทำผิดทั้งรัฐธรรมนูญและมาตรฐานทางจริยธรรม ดังนั้นจึงฟันธงว่าไม่หมูงานยาก อย่าคิดว่าเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจไว้ดีแล้ว อะไรที่มันผิดธรรมชาติดึงดันจะเอาแบบนี้ที่สุดคืออวสาน เป็นกำลังใจให้ประธานที่ประชุมหวังว่าคงจะไม่รวบรัดให้โหวตกันไปแบบไม่ต้องพิจารณาประเด็นเหล่านี้เลย เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่จบแค่ใครจะได้เป็นนายกฯ
“สมพงษ์” ยังเต็งเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า จากสถานการณ์การเมืองขณะนี้ที่พรรคพลังประชารัฐมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จสูง ทำให้ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยเริ่มหารือถึงความเป็นไปได้หากต้องเป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 กำหนดว่า หลังคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งผู้เป็นหัวหน้าพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดแล้วไม่ได้ร่วมรัฐบาลเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ดังนั้น เมื่อ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตัว และ ส.ส.ที่ผู้ใหญ่ในพรรคเห็นว่าเหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านคือนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ เนื่องจากมีความรู้ความสามารถ การทำงานที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งมีพวกพ้องสามารถคุยได้ทั้งในพรรคและนอกพรรค อย่างไรก็ตามทางพรรคยังคงมีเวลาดำเนินการรอให้เลือกนายกฯเสร็จสิ้นแล้วจะหารือเรื่องนี้กันอีกครั้ง เมื่อ พล.ต.ท.วิโรจน์ลาออกจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารชุดใหม่ต่อไป
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04OWEmemUps5Cv9mUoSkhKZgeJ1bEkpH.jpg)
อนค.ยันจุดยืน “ธนาธร” ชิงนายกฯ
ด้านนายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในส่วนของ 7 พรรคการเมืองแนวร่วมต่อต้าน คสช.ว่า แม้พรรคอนาคตใหม่จะมีจุดยืนในการสนับสนุนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกฯ แต่ระหว่าง 7 พรรคการเมืองคงต้องเจรจาดูข้อดีข้อเสียและจุดยืนของแต่ละพรรค โดยพรรคยืนยันเรื่องเป้าหมายสูงสุด คือการยุติการสืบทอดของ คสช. ลบล้างผลพวงรัฐประหาร และแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากการเจรจายึด 3 หลักเกณฑ์นี้ ทุกอย่างสามารถหารือกันได้ ส่วนการหารือภายในพรรคก่อนโหวตนายกฯอาจไม่จำเป็นต้องจัดประชุมอย่างเป็นทางการ เพราะติดต่อกันอยู่แล้วโดยอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ
บี้ “บิ๊กตู่” โชว์วิชั่น–ชี้อวยกันเลี่ยนแน่
เมื่อถามถึงกรณีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ ส.ว.งดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี นายชำนาญตอบว่า เห็นด้วย และคิดว่าหาก ส.ว.ไม่สะดวกใจที่จะโหวตสวนหรือโหวตไม่เห็นด้วย ก็ควรงดออกเสียง ส่วนตัวไม่คิดว่า ส.ว. 250 คนจะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน เพราะอย่างน้อยมี ส.ว. 50 คนที่ผ่านกระบวนการสรรหาจากระดับพื้นที่ขึ้นมา เชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะมีจุดยืนของตัวเอง เมื่อถามถึงการเสนอให้แคนดิเดตนายกฯ แสดงวิสัยทัศน์ก่อนให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาโหวตเลือก นายชำนาญตอบว่า เป็นเรื่องที่ดีแน่นอน แต่เชื่อว่าเรื่องนี้จะถูกก่อกวนและประท้วงเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่เสนอให้แคนดิเดตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 แสดงวิสัยทัศน์ นอกจากนั้นยังเชื่อว่าจะมีผู้แสดงความเห็นสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กันเต็มสภา จึงอยากแนะนำให้ ส.ส.เตรียมเครื่องดื่มแก้เลี่ยนมาด้วย
เย้ย พท.ตีคุณสมบัตินายกฯไร้ผล
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยออกมาระบุ พล.อ.ประยุทธ์อาจขัดคุณสมบัติการเป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญว่า ไม่เป็นธรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะประเด็นคุณสมบัติได้ผ่านการตรวจสอบจากพรรค กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค การเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นการดิสเครดิตหรือหาเรื่องกันมากกว่า เป็นการเล่นการเมืองแบบเก่า อยากให้พรรคเพื่อไทยไปเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านดีกว่ามัวมาเล่นการเมืองแบบไม่สร้างสรรค์ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการโหวตให้เป็นนายกฯในวันที่ 5 มิ.ย.แน่นอน ส่วนกระบวนการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลนั้น ตลอดการเจรจาไม่พบว่ามีปัญหาแต่อย่างใด จะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ ส่วนตัวมองว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 มิ.ย. และจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากแน่นอน
โพลชี้ “บิ๊กตู่” ยังเหมาะเป็นนายกฯ
สำนักวิจัยซุปเปอร์โพล เผยผลสำรวจเรื่องประชาชนคิดอย่างไรต่อการเมืองจากกรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างทุกสาขาอาชีพ 1,164 ตัวอย่าง วันที่ 25 พ.ค. -1 มิ.ย. พบว่าร้อยละ 51.81 ระบุ บรรยากาศการเมืองแย่ลงเมื่อเทียบกับ 5-6 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 33.16 ระบุเหมือนเดิม มีเพียงร้อยละ 15.03 ระบุดีขึ้น และร้อยละ 71.39 ระบุการเมือง 6 เดือนข้างหน้ามืดมน ร้อยละ 28.61 ระบุเห็นแสงสว่างทุกอย่างจะไปได้ดี ขณะที่ร้อยละ 79.47 ระบุมีความเชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลยต่อรัฐบาลใหม่ ร้อยละ 20.53 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด ทั้งนี้มีถึงร้อยละ 61.51 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมเป็นนายกฯ ขณะที่ร้อยละ 38.49 ไม่เหมาะสม
อึดอัดต่อรองตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง 1,137 คน วันที่ 28 พ.ค.-1 มิ.ย. หัวข้อความอึดอัดของประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล ว่าคิดอย่างไรกับความไม่แน่นอนในการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล ร้อยละ 44.14 ระบุเป็นเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนยื่นข้อเสนอต่อกัน ร้อยละ 33.30 ระบุ ภายในพรรคเสียงแตก คิดเห็นไม่ตรงกัน ตกลงกันไม่ได้ ร้อยละ 17.86 ทุกพรรคอยากเป็นรัฐบาล มีการเลือกฝ่ายที่ได้เปรียบ ร้อยละ 12.74 พรรคขนาดกลางเป็นตัวแปรสำคัญ ส่วนที่จัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อร้อยละ 67.45 ระบุว่า ผลประโยชน์ไม่ลงตัวแย่งเก้าอี้ ไม่ได้ตามข้อเสนอ ร้อยละ 28.27 ผู้นำพรรคยังตัดสินใจไม่ได้ ขัดแย้งภายในพรรค และร้อยละ 19.08 เป็นเกมการเมืองยังจับขั้วไม่สำเร็จ เสียงไม่เพียงพอ
ให้ พปชร.-พท.หยุดเห็นแก่ตัว
ขณะสิ่งที่อยากบอกพรรคพลังประชารัฐและเพื่อไทย ร้อยละ 58.43 ระบุให้นึกถึงประโยชน์ของชาติประชาชน หยุดเห็นแก่ตัว ร้อยละ 39.29 ให้เคารพกฎหมายเป็นประชาธิปไตยฟังเสียงประชาชน ร้อยละ 26.24 ให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ส่วนที่อยากบอกพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และอนาคตใหม่ ร้อยละ 47.75 ระบุ ให้รักษาสัญญาทำตามที่หาเสียงไว้ไม่โกหกประชาชน ร้อยละ 30.81 ให้ปฏิบัติตามหน้าที่ตรงไปตรงมาเคารพกฎหมาย ร้อยละ 25.23 ให้คำนึงถึงชื่อเสียงอุดมการณ์ และพรรคขนาดเล็ก ร้อยละ 53.42 อยากบอกให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สร้างผลงานเป็นรูปธรรม ร้อยละ 34.70 ไม่สร้างความวุ่นวาย อยู่ในขอบเขต หยุดตอบโต้กันไปมา และร้อยละ 18.72 ไม่ยอมเป็นเครื่องมือทางการเมือง
เบื่อลีลา ปชป.เหตุแพ้เลือกตั้ง
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บทเรียนและบทบาทพรรคประชาธิปัตย์” ระหว่างวันที่ 30-31 พ.ค. จากประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,261 คน โดยถามถึงสาเหตุที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งพบว่าร้อยละ 32.83 ระบุ เบื่อไม่ชอบวิธีดำเนินการทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 18.00 พรรคอนาคตใหม่แย่งฐานคะแนนเสียง ร้อยละ 17.05 ประชาธิปัตย์พูดเก่งอย่างเดียวปฏิบัติไม่เป็น ร้อยละ 15.31 พรรคพลังประชารัฐแย่งฐานคะแนนเสียงร้อยละ 13.40 เบื่อไม่ชอบผู้สมัคร ส.ส.ปชป. ร้อยละ 12.85 เบื่อไม่ชอบวิธีการทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 11.66 กำหนดยุทธศาสตร์หาเสียงผิดพลาด ร้อยละ 11.58 นายอภิสิทธิ์ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
ไร้บทบาททางการเมืองที่ชัดเจน
เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์พบว่า ร้อยละ 31.17 ระบุมีความแตกแยกมากเกินกว่าที่จะตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว ร้อยละ 21.97 เดินเกมทางการเมืองต่อรองเพื่อ ตำแหน่งรัฐมนตรี ร้อยละ 17.61 ชอบอ้างอุดมการณ์ของพรรค ร้อยละ 14.83 ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค ร้อยละ 13.48 การต่อรองทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของทุกพรรค ร้อยละ 7.53 ไม่มีบทบาททางการเมืองที่ชัดเจน ร้อยละ 5.08 เดินเกมทางการเมืองต่อรองเพื่อผลประโยชน์ประชาชน และร้อยละ 4.76 ไม่มีเจ้าของที่ครอบงำพรรคจึงใช้เวลานานในการตัดสินใจทางการเมือง และร้อยละ 1.43 มีความเชี่ยวชาญเกมการเมืองในสภาเป็นอย่างมาก
ปชป.โต้จุดยืนชัดยึดซื่อสัตย์สุจริต
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพลหัวข้อ “บทเรียนและบทบาทพรรคประชาธิปัตย์” ว่า ความจริงที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ยึดถือและปฏิบัติตลอดมาคือ ยึดหลักซื่อสัตย์สุจริต ส่วนที่โพลระบุประชาชนมองว่า พรรคไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน นโยบายไม่ตอบสนองความต้องการประชาชน และไม่มีผลงานที่ชัดเจนนั้น 73 ปี พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคเดียวที่มีผลงานเป็นจำนวนมาก และชัดเจนที่สุด ขอเรียกร้องไปยังนิด้าโพลว่า มีประเด็นที่น่าสนใจของหลายพรรคที่ควรทำการศึกษาว่า จุดยืนทางการเมืองที่คิดถึงประโยชน์พวกพ้อง คิดนโยบายเพื่อทุจริต เลือกปฏิบัติกับประชาชน ใช้เสียงข้างมากในทางที่ผิด ทำลายระบบตุลาการ ซื้อตัวนักการเมือง หัวข้อต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ประชาชนเห็นมุมมองที่แตกต่าง และชัดขึ้นถึงคำว่าสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04OWEmemUps5Cv9mUoClV4cggSqyz7ug.jpg)
“อลงกรณ์” น้อมรับโพลสะท้อนเงา
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค กล่าวว่า ผลสำรวจนิด้าโพลจะบวกหรือลบเป็นเสมือนกระจกเงาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพรรคและยืนยันประชาธิปัตย์น้อมรับทุกประเด็นเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ได้เรียกประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคในวันที่ 3 มิ.ย. เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ใหม่ของพรรค โดยจะนำผลสำรวจความเห็นของประชาชนพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ตนจะนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคต่อที่ประชุมทั้งโครงสร้างใหม่และแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาปฏิรูปพรรคให้เข้มแข็งทันสมัยมีประสิทธิภาพ เชื่อมั่นว่าประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นทางเลือกหลักของประชาชนอีกครั้ง
ตอกกลับ “เต้น” นักหักหลังตัวจริง
นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.พูดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจ และเงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญจะไม่มีทางได้รับการตอบสนอง นายณัฐวุฒิคงมีเวลาว่างมาก เลยมานั่งจับผิดพรรคที่กำลังทำงานหาทางออกให้บ้านเมือง อย่ามือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ประชาธิปัตย์ตัดสินใจต้องยึดผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก และรอมติพรรค ไม่มีเจ้าของเหมือนบางพรรคที่สั่งหันซ้ายหันขวามาจากแดนไกล พรรคจะยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ วันที่ 5 มิ.ย. ทุกฝ่ายจะเห็นคำตอบ และพร้อมมีคำอธิบายให้กับประชาชน ที่นายณัฐวุฒิกล่าวหาประชาธิปัตย์หักหลังประชาธิปไตย นักหักหลังประชาธิปไตยตัวจริงคือพรรคเก่าของนายณัฐวุฒิ ที่หาเสียงสัญญาว่าจะไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรม พอนายใหญ่สั่งก็รับลูกเร่งออกจนเป็นที่มาของการยึดอำนาจ รู้อยู่แก่ใจดีแต่ทำเป็นแกล้งลืม
โต้ “ธนาธร” ฟังประมงด้านเดียว
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนารับฟังปัญหาชาวประมง ที่ตลาดมหาชัยมั่นคง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โจมตีนโยบายแก้ไขปัญหาไอยูยู หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้ชาวประมงเดือดร้อนว่า จากภาพและคลิปที่เจ้าหน้าที่รวบรวมมาพบว่า กลุ่มที่ให้ข้อมูลกับนายธนาธร ส่วนใหญ่ทำผิดกฎหมายบางคนถูกศาลสั่งปรับกว่า 500 ล้านบาท หลายคนทำความผิดในน่านน้ำสากลถูกสั่งยึดเรือ เป็นการรับฟังข้อมูลด้านเดียว จงใจลดความน่าเชื่อถือของ รัฐบาล ตามที่นายธนาธรเคยพูดไว้ว่าจะทำงานนอกสภา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ยืนยันว่า หากรัฐบาลไม่แก้ปัญหาไอยูยูอย่างจริงจังจะเจอวิกฤติการประมง ตรงกันข้ามปี 2561 เราจับปลาได้เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนตัน มาจากประมงพื้นบ้านถึง 15,000 ตัน และเพิ่มวันจับปลาให้เรือประมงพาณิชย์กว่า 100 วัน สะท้อนว่าสัตว์น้ำเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ ไม่มีปัญหาเรือเถื่อน ปัญหาการค้ามนุษย์ดีขึ้น
อนค.ยันศึกษามาดีคนพื้นที่หนุนอื้อ
น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ศึกษานโยบายประมงเป็นอย่างดี รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนมากที่สุด เช่น จ.ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และจังหวัดในภาคตะวันออก ล้วนเป็นพื้นที่ที่พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงจำนวนมาก หมายความว่า นโยบายของพรรคได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ การพูดถึงประเด็นนี้พรรคมีความรัดกุม คำนึงเรื่องผลกระทบทั้งกลุ่มแรงงาน สหภาพยุโรป (อียู) และรัฐบาล ก่อนหน้าได้พูดคุยกับนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงทูตอียู ไม่ว่ารัฐบาลจะบอกอย่างไรก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลชี้แจง ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ เรารู้ว่ากำลังพูดในฐานะนักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบ คงไม่พูดอะไรที่เราไม่ได้ตรวจสอบ หรือเป็นข้อมูลเท็จ
“ธนาธร” โชว์เชิงการเมืองนอกสภา
ที่สนามฟุตบอลฟิวเจอร์ อารีนา จ.ปทุมธานี ศูนย์ประสานงานพรรคอนาคตใหม่จังหวัดปทุมธานี จัดกิจกรรมฟุตบอลกระชับมิตรครั้งที่ 1 โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมแข่งขันฟุตซอล 7 คน ระหว่างทีมปทุมธานีกับทีมอนาคตใหม่ ลงแข่ง 45 นาที ท่ามกลางกองเชียร์ที่ซื้อบัตรเข้าชมกว่า 500 คน ปรากฏว่าทีมอนาคตใหม่ชนะทีมปทุมธานี 7-5 ประตู นายธนาธรยิงไป 2 ประตู โดยนายธนาธรกล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นความตั้งใจของพรรคจะทำให้เห็นว่า การเมืองสร้างสรรค์ที่สนุกสนาน สดใสมีพลังสามารถเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องของผู้มีอิทธิพล ไม่ใช่เป็นเรื่องของตระกูลการเมือง ไม่ใช่เป็นเรื่องของบ้านใหญ่ที่ไหน การเมืองเป็นเรื่องของทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ตนในฐานะที่เขาไม่ให้เข้าไปอยู่ในสภา จะเดินทางไปทำกิจกรรมอย่างนี้กับพ่อแม่พี่น้องชาวอนาคตใหม่ทั่วประเทศสัปดาห์หน้าจะมีที่ จ.เชียงใหม่