“ทำไมพรรคการเมืองต่อรองตำแหน่งหนักถึงขนาดนี้”

นายอรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามก่อนบอกให้เห็นภาพรวมว่า ทั้งหมดเกิดจากการออกแบบตั้งแต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

โดยคนออกแบบมีความหวังและความเป็นจริงต้องการปฏิรูปการเมือง

แล้วความจริงที่ออกมาตรงกับที่ออกแบบมาหรือไม่

มีใครรู้หรือไม่หลังการเลือกตั้งต้องตั้งรัฐบาลถึง 20 พรรค บางทีมันเลยป้ายที่กำหนดไว้ สมัยก่อนผลแพ้ชนะคะแนนมันขาด ไม่เคยมีเสียงปริ่มน้ำมาก่อน

พรรคที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลบางทีเหมือนดื้อ แต่จริงๆไม่ได้ดื้อ เพราะรู้ดีว่าพรรคอื่นรอเสียบ สมัยนี้เกิดเสียงปริ่มน้ำก็ต่อรองกันเยอะ เพราะถ้าพรรคอื่นไม่มาร่วมด้วยก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้

เสียงปริ่มน้ำทำให้เกิดปัญหา ตามทฤษฎีระบุว่าการร่วมรัฐบาลมีทั้งทำตามอุดมการณ์และเดินตามนโยบาย ถามว่าประเทศไทยเป็นแบบไหน เราไม่เคยเห็นว่าพรรคการเมืองมีอุดมการณ์ที่แตกต่าง มันไม่ชัดว่าซ้ายหรือขวา เข้าข่ายรวมรัฐบาลเอาตำแหน่งและอำนาจมากกว่า

ที่ผ่านมาเรามีรัฐบาลผสมมาโดยตลอด แต่สิ่งที่ขาดไปคือไม่เคยถามว่าข้อตกลงร่วมในเชิงนโยบายที่จะดำเนินการมีอะไรบ้าง

อาทิ บางพรรคการเมืองชูนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ พอเข้าร่วมก็ไม่เคยพูดถึง ประชาชนได้เห็นแค่ใครเข้าไปดำรงตำแหน่งอะไรแค่นั้นหรือ มันไม่ใช่ กลายเป็นว่านักการเมืองไม่เห็นประชาชนมาตั้งแต่ตั้งรัฐบาล

แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับต่างประเทศที่ตั้งรัฐบาลช้า

เพราะข้อตกลงนโยบายร่วมของรัฐบาลผสมคลอดออกมาไม่ได้ เขาต่อรองกันตรงนี้

เช่น นโยบายขึ้นภาษีของพรรคนี้ อีกพรรคไม่ยอม ทุกพรรคต้องหาจุดร่วมในด้านนโยบาย

แต่การตั้งรัฐบาลผสมของประเทศไทย ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีก่อน

...

ขอเสนอให้พรรคที่จะเข้าร่วมรัฐบาล ควรตกลงให้ชัดเจนว่าจะเดินหน้านโยบายอะไรบ้าง เพื่อบอกประชาชนที่เลือกพรรคของคุณเข้ามา ไม่ใช่ประชาชนอยากได้นโยบายสีส้ม แต่คุณไปผสมจนเป็นนโยบายสีน้ำองุ่น

เช่น พรรคนั้นเลือกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกพรรคต้องชี้แจงได้ว่ายอมให้พรรคนี้ เพราะนโยบายเกี่ยวกับเกษตรของพรรคนั้นดีกว่า ไม่ใช่เกิดจากพรรคนี้อยากได้ เพราะเป็นกระทรวงเกรดเอ ถ้าวืดไม่ได้กระทรวงนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่ได้คะแนนเสียง แบบนี้เล่นการเมืองไม่สร้างสรรค์

อีกประเด็นที่ทุกคนพูดถึงรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่ได้มีเสียงข้างน้อยแล้วเป็นรัฐบาลไปเลย โดยปกติรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะมีหลายขั้ว เมื่อขั้วหนึ่งและขั้วสองจับคู่ร่วมตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่แล้ว ก็มีขั้วสามที่เข้ากับขั้วหนึ่งและขั้วสองไม่ได้

มันอาจมีจุดที่เข้ากับขั้วหนึ่งได้ เช่น นโยบายไปด้วยกันได้ แต่ไม่เข้าร่วมรัฐบาล ไม่ร่วม ครม. เมื่อถึงเวลาลงมติโหวตเรื่องสำคัญๆก็สนับสนุนรัฐบาล

เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ มีพรรคหนึ่งบอกว่าถึงเวลาโหวตลงมติไม่ไว้วางใจ หรือกฎหมายสำคัญก็ร่วมโหวตด้วย แต่ไม่ขอร่วมรัฐบาล

รัฐบาลเสียงข้างน้อยในต่างประเทศ เมื่อถึงเวลาโหวตลงมติสำคัญ พรรคที่ไม่รับตำแหน่งก็โหวตสนับสนุนโดยยึดผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก เขาไม่เรียกว่างูเห่า แต่ในประเทศไทยเรียกพฤติกรรมนี้ว่างูเห่า

หากมองโลกสวยตามอุดมคติการเมือง งูเห่าไม่ผิด เพราะอาจโหวตด้วยความรู้สึกที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศหรือประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้ง

ฉะนั้น อยากให้ ส.ส.ทำหน้าที่โดยเชื่อในความเป็นตัวของตัวเองและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

แต่การเมืองไทย ต้องเผชิญต่อความรู้สึกหรือวาทกรรมที่ไปกดให้คิดว่า ส.ส.ที่ไม่โหวตตามมติพรรค แล้วไปโหวตให้อีกฝั่งคือไม่ชอบธรรม ต้องเป็นงูเห่ารับเงินมาแน่นอนเลย

บางทีงูเห่าอาจเป็นงูที่ดี อย่าไปมองแค่โหวตเลือกประธานสภา หรือนายกรัฐมนตรี

เหตุผลหนึ่งเกิดจากการออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกประธานสภา การเลือกนายกรัฐมนตรีและฟอร์ม ครม.เกิดปัญหา นายอรรถสิทธิ์ บอกว่า ใช่ ก่อนหน้านี้ในบางประเทศเมื่อเปลี่ยนระบบเลือกตั้งต้องทำความเข้าใจกับประชาชนนานนับปี ถึงเข้าใจระบบเลือกตั้ง

การเลือกตั้งที่ดีต้องง่ายต่อการทำความเข้าใจและบริหารจัดการ

แต่ของประเทศไทยประชาชนเกิดความคลางแคลงใจก่อให้เกิดความไม่มั่นใจกติกา

ยิ่งประกาศผลการเลือกตั้งล่าช้า แจกใบส้ม เลือกรองประธานสภาฯฝ่ายตรงข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลตามวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่โปร่งใส นายอรรถสิทธิ์ บอกว่า นี่คือความน่ากลัว ข้อเท็จจริงความกังวลไม่ได้อยู่ที่วันเลือกตั้ง แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนว่ายอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่

คำถามคือหลังจากนี้ก็มีคนพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ความจริงการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งจะมองแค่การเลือกตั้งครั้งแรกไม่ได้ เพราะเป็นกติกาใหม่ ทุกคนยังปรับตัวไม่ได้ พอเลือกตั้งครั้งต่อไปทุกคนเริ่มปรับตัวก็จะวัดได้ว่าดีหรือไม่

เริ่มเห็นโฉมหน้า ครม. แต่พรรคการเมืองมองข้ามช็อตว่าอายุของรัฐบาลอาจอยู่ไม่ยาว นายอรรถสิทธิ์ บอกว่า หากแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี ประชาชนมีความสุข รัฐบาลก็อยู่ได้นาน

ส่วนโฉมหน้า ครม.เอาเข้าจริงๆตามหลักเมื่อนักการเมืองได้รับเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องการเป็นรัฐบาล ทุกคนอยากเป็นรัฐบาล เพียงแค่จะออกมาในรูปแบบไหน

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รวมกันไม่ได้ แต่อยู่ที่เกลี่ยตำแหน่งรัฐมนตรียังไม่ลงตัว

น้ำหนักมันไปตกอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องดูแลกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มทหาร ทหารก็อยากเป็นรัฐบาลต่อ นักการเมืองแน่นอนอยากเป็นรัฐบาลและได้ตำแหน่งใน ครม.

ก็ต้องหาจุดสมดุลระหว่างความต้องการเป็นรัฐบาลต่อกับจัดที่นั่งใน ครม.ให้ลงตัวได้แค่ไหน

วันนี้ถ้าลงมติโหวตเลือกนายกฯไม่มีปัญหา เพราะมีเสียง ส.ว.สนับสนุน

แต่หลังจากนั้นสภาต้องปั่นป่วนแน่ แค่ประชุมนัดแรก สมาชิกขอนับองค์ประชุมท่ามกลางเสียงปริ่มน้ำ

หรือกรณีรัฐบาลเสนอร่างกฎหมายหรือเรื่องสำคัญเข้าที่ประชุมสภา หากลงมติโหวตแพ้ ตามมารยาททางการเมืองต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกเหมือนต่างประเทศ

คำถามคือเมืองไทยถามหามารยาททางการเมืองได้หรือไม่

ยิ่งเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆในสภา ยิ่งดิสเครดิตรัฐบาลไปเรื่อยๆ

ในที่สุดรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เพราะมันคือความรู้สึกของประชาชน รัฐบาลต้องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของสังคม

ขอย้ำว่าถ้าเกมในสภาแพ้เรื่อยๆ รัฐบาลก็อยู่ลำบาก

รวมถึงการบริหารงานของรัฐบาลต้องโปร่งใส ยิ่งในยุคประชาชนและสังคมตื่นตัว ตรวจสอบเข้มข้น แม้ข้อมูลบางเรื่องมันดูเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่าความรู้สึกเล็กๆน้อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดความสงสัย สุดท้ายรัฐบาลจะอยู่ไม่ได้

ยิ่งหากบอกว่าไม่โกงแต่ไม่เปิดเผยข้อมูล ยิ่งปิดยิ่งน่าค้นหา

คนก็ตั้งคำถามว่าทำไม ความรู้สึกนิดเดียวมันไปแล้ว อันนี้น่ากลัวกว่า

เมื่อคุณไม่โกงก็ต้องเปิดเผยข้อมูล เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเปิดให้ตรวจสอบ

วันนี้การเมืองไทยจะปฏิรูปสำเร็จตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ สังคมต้องช่วยกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลประกาศนโยบายร่วมก่อนจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี นายอรรถสิทธิ์ บอกว่า อย่าปล่อยให้ประชาชนมองว่าพรรคการเมืองตกลงกันได้กระทรวงเกรดเอ เกรดบี เกรดซีแล้วแฮปปี้

กลายเป็นว่านักการเมืองไม่เห็นประชาชนมาตั้งแต่ตั้งรัฐบาล

ฉะนั้นพรรคร่วมรัฐบาลควรมีข้อตกลงร่วมว่ามีนโยบายอะไรจะทำบ้าง

รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอะไรบ้าง จะทำให้รัฐบาลเดินหน้าไปได้.

ทีมการเมือง