นับเป็นความสูญเสียปูชนียบุคคลครั้งสำคัญของประเทศไทย

กับการอสัญกรรมของ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ตามประกาศสำนักพระราชวัง พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความโทมนัสยิ่ง ต่อการอสัญกรรมของ พล.อ.เปรม

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโกศกุดั่นน้อย ฉัตรเครื่องตั้งประดับแตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืนกำหนด 7 คืน

ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนักเป็นเวลา 21 วัน

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2562 รวม 7 วัน ให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ทุกข์ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นวันที่ 3 มิถุนายน 2562) รวม 21 วัน

ถือเป็นเกียรติประวัติสามัญชน ลูกชาวบ้านธรรมดา

ผู้จารึกประวัติศาสตร์ “ประธานองคมนตรี 2 รัชกาล”

“อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี” พล.อ.เปรม คือตำนานขององครักษ์พิทักษ์สถาบัน ผู้สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติไทยอย่างใหญ่หลวง สมดั่งวาจาอมตะ “เกิดมาต้องแทนคุณแผ่นดิน”

ซื่อสัตย์ สุจริต พอเพียง ไม่คิดคดฉ้อราษฎร์บังหลวง

ตัวอย่างที่คนมีอำนาจในบ้านเมืองควรยึดถือเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะคนที่ถูกมองว่ากำลังเดินตามรอย “เส้นทางรัฐบุรุษ” อย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ในฐานะนายกฯคนเดียวและคนสุดท้ายที่ได้รับการันตีจากปาก “ป๋าเปรม”

...

รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่โกง

เสริมเครดิตต้นทุนส่วนตัว “ลุงตู่” ในมุมความโปร่งใส ให้ยิ่งแวววาว

ในจังหวะสถานการณ์ “อำนาจเปลี่ยนผ่าน” พล.อ.ประยุทธ์กำลังเผชิญความท้าทาย แรงเสียดทานทางการเมืองที่เปลี่ยนจากอำนาจพิเศษสู่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง

สัญญาณป่วนแรงตั้งแต่การประชุมสภาฯนัดแรก

ล่าสุดมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานวุฒิสภา

โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ได้เรียกประชุมร่วมรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. 500 คน กับ ส.ว. 250 คน เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ เวลา 11.00 น.

ท่ามกลางฝุ่นตลบ การดีลจับขั้วรัฐบาลยังไม่ลงล็อกลงตัว

แต่แน่นอน ด้วยเงื่อนไขบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญที่ผ่าน “ประชามติ” กำหนดเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วม 2 สภา นั่นคือ 376 เสียง

นับตัวเลขตามเนื้อผ้า เสียงแน่นๆของ 250 ส.ว. รวมกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ บวกกับพรรคแนวร่วมที่แสดงตัวชัดเจนคือพรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคชาติพัฒนา และพรรคเล็ก 10 พรรค โดยไม่ต้องพึ่งพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย

ต้นทุนหน้าตักของ “บิ๊กตู่” มีแล้วแน่ๆ 400 เสียง เกินกึ่งหนึ่งเยอะ

ยึดแป้น “นายกรัฐมนตรี” ตีตั๋วต่อแบบแบเบอร์

และโดยเงื่อนไขสถานการณ์จะโยงต่อเนื่องถึงดีลต่อรองโควตารัฐมนตรี ตามที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงอย่างเป็นทางการว่า การเจรจาร่วมรัฐบาลต้องผ่านมติกรรมการบริหารพรรค

ทำกันเป็นระบบเหมือนทุกพรรคการเมืองทั่วไป

แต่ลึกๆมันคือปฏิบัติการล้มดีลที่ “ผู้มีบารมีนอกพรรค” โชว์บทใจป้ำ ชิงรวบรัดอำนาจเจรจากับพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่ดอดเข้าบ้านพักในกรมทหาร

จัดให้ตามบิลที่ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับ “เสี่ยต่อ” นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นใบเสนอราคาแลก 104 เสียงที่กอดคอมัดข้าวต้ม ปาดหน้าเค้กกระทรวงเกรดเอ ภูมิใจไทย ได้ทั้งคมนาคม สาธารณสุข การท่องเที่ยวฯ บวก รมช.มหาดไทย รมช.ศึกษาธิการ ขณะที่ประชาธิปัตย์ ก็ฮุบกระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ การพัฒนาสังคมฯ บวก รมช.มหาดไทย รมช.คมนาคม

อู้ฟู่ ลูบปาก ยิ้มหวานไปตามๆกัน

นั่นจึงทำให้เกิดรายการ “งัดข้อ” แกนนำสายการเมืองของพรรคพลังประชารัฐไม่พอใจทีมผู้มีบารมีนอกพรรค เอากระทรวงเกรดเอไปแจกพรรคตัวแปรแลกกับแค่การล็อกเก้าอี้ รมว.กลาโหมกับ รมว.มหาดไทย แทบไม่เหลือกระทรวงที่ทำงานให้คนของพลังประชารัฐเอาไว้เดินเนื้องานตามที่หาเสียง สำหรับการเลือกตั้งรอบหน้า

แถมยังเสียเหลี่ยมให้พรรคประชาธิปัตย์ยึดตำแหน่งประธานสภาฯ

จึงได้เห็นหมากเขี้ยวชนเขี้ยว เกมชิงพลิกยุทธศาสตร์ พลังประชารัฐส่งสัญญาณแข็ง มอบสิทธิการเจรจาให้ทีมเชี่ยวเชิงการเมืองมาคุมดีลแทน “ผู้มีบารมีนอกพรรค” ที่ยอมถอย ถอนมือล้วงออกไป

โดยไม่สนประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยจะแท็กทีมลากเกมขู่ถอนยวง

ที่สำคัญตามแนวทางที่นายอุตตมแถลงชัดเลยว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องนำนโยบายพรรคมาหารือกัน ก่อนเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันอย่างมีเป้าหมาย แล้วค่อยจัดวางโควตารัฐมนตรี

ต้องเน้นการเดินหน้าประเทศ ไม่ใช่ดีลต่อรองผลประโยชน์

“เซียนเหยียบเมฆไร้รอย” ของพลังประชารัฐอ่านแต้มขาด

โดยสภาพพรรคประชาธิปัตย์แตกเละเป็นโจ๊ก ถึงจุดนี้ยังเคลียร์กันภายในพรรคไม่ได้ ไม่รู้ฝ่ายไหนคุมอำนาจในการดีลโควตารัฐมนตรีอย่างแท้จริง สถานการณ์แบบที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ก็ยึกยักตามอาการของกองหนุนคือนายชวน หลีกภัย กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่อีกสายที่นำโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายถาวร เสนเนียม นายกรณ์ จาติกวณิช พร้อมนำทีม ส.ส.นับแล้ว 27 ที่นั่ง แหกค่ายมาโหวตหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ชัวร์

นั่นหมายถึงโควตารัฐมนตรีควรเป็นของ “พีระพันธุ์-ถาวร” มากกว่า

ประชาธิปัตย์แตกยับ มีแต่แย่งกันวิ่งเข้าหาขั้วอำนาจ ไม่มีสภาพมาต่อรอง ซึ่งนั่นก็โยงกับน้ำหนักของนายอนุทิน ที่พยายามยึดเกมจับมือมัดข้าวต้มกับพรรคประชาธิปัตย์ ล็อกเงื่อนไข ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ ภูมิใจไทยก็ไม่เอาด้วยเหมือนกัน

กดดันยื้อดีลเดิมที่ “พี่ใหญ่” มัดคอตัวเองไว้ กอดเก้าอี้หุ้มทองฝังเพชร กระทรวงเกรดเอไว้แน่น

ไม่ยอมคายอ้อยออกจากปากช้างง่ายๆ

แต่ถึงนาทีนี้ดีล “พี่ใหญ” ล่มแล้ว เกมถูกดึงกลับไปว่ากันในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ

โดยเฉพาะสถานการณ์เกมเขี้ยวของทีมพลังประชารัฐ ลากการแบ่งโควตารัฐมนตรีไปว่ากันหลังโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะได้เห็นกันชัดๆว่าใครยืนขึ้นขานชื่อ แสดงตัวแสดงตนโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์

นับแต้มกันได้ชัดๆพรรคไหนเท่าไหร่ เต็มจำนวนหรือขาดไป

นั่นจะมีผลต่อการคำนวณเก้าอี้รัฐมนตรีได้สมน้ำ สมเนื้อ

เท่านั้นไม่พอ ประเมินจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ประกาศชัดๆจะต้องพิจารณาการจัดรัฐมนตรีด้วยตัวเองก่อน ต่อเนื่องกับการประกาศกลางวงนักข่าวทำเนียบฯ กระทรวงหลัก กลาโหม มหาดไทย คลัง คมนาคม ต้องอยู่กับพรรคแกนนำรัฐบาล เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ทำให้ประชาธิปัตย์ตำหนิ “นายกฯลุงตู่” ผิดมารยาททางการเมือง

ทั้งๆที่เรื่องของเรื่อง ว่ากันตามหลักการ มันก็ไม่ได้แปลกประหลาดแต่อย่างใด กับการที่คนเป็นนายกฯจะขอพิจารณารายชื่อ ครม.ก่อนกระบวนการทูลเกล้าฯ โดยเฉพาะในห้วงสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนผ่าน สังคมคาดหวังนักการเมืองยุคปฏิรูป คนเป็นรัฐมนตรีต้องดูหน้าตา กระแสสังคมรับได้หรือไม่

เพราะสุดท้าย “นายกฯลุงตู่” ก็คือผู้รับผิดชอบสูงสุดเอาแค่สมมติตามกระแสข่าวพรรคภูมิใจไทยได้คุมกระทรวงคมนาคม มันหนีไม่พ้นเสี่ยงปมผลประโยชน์ทับซ้อนกับยักษ์ใหญ่ก่อสร้างซิโน–ไทย ธุรกิจตระกูลใคร รู้กันทั้งประเทศ

มันท้าทายสังคม โจ๋งครึ่มเกินไปหรือไม่

ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์เองที่หวังปาดหน้าเค้กกระทรวงเกรดเอ ก็ไว้วางใจไม่ได้เช่นกัน กับสถานะของพวกที่เป็นฝ่ายค้านลากยาว โอกาสได้ถอนทุน ตุนเสบียง มันห้ามใจลำบาก

เอาเป็นว่าแค่ช็อตเปิดโผ ครม.พรรคร่วมรัฐบาลหยั่งหินถามทาง แพลมๆชื่อออกมาในสื่อ ยังเล่นเอาสะดุ้งกันทั้งบ้านทั้งเมือง บางคนยังมีปมค้างเก่าวีรกรรมตอนเป็นเลขารัฐมนตรีตั้งโต๊ะขายเก้าอี้ บางคนมาเฟียเรียกพี่ หรือแม้แต่ในทีมพลังประชารัฐเองก็หนีไม่พ้นโดนจับตาพวกมือไวใจถึง

ถ้า ครม.ใหม่กระตุกเสียงโห่ เสียงยี้ ดังลั่น ตัวแสบๆ นั่งกระทรวงสำคัญ

“นายกฯลุงตู่” นั่นแหละจะพะอืดพะอมกว่าใคร

ทั้งหมดทั้งปวง ในสถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังถือดุลอำนาจอยู่เต็มมือ ยึดแป้นเป็นนายกฯชัวร์ๆ ถ้าตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ ก็ลากยาวไป โดยที่การตั้งคณะรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดเวลา อำนาจนายกฯยังอยู่ในมือเต็มๆ รัฐบาลบริหารได้เต็มไม้เต็มมือ ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ

หรือที่สุด ไพ่ใบสุดท้าย “ยุบสภา” ก็ยังขู่นักเลือกตั้งอาชีพได้

ในสภาพการณ์แบบนี้ มันคือโอกาสที่ “นายกฯลุงตู่” จะโชว์ภาวะผู้นำ ออกแบบ ครม.รัฐบาลเลือกตั้งให้สมราคาความคาดหวังของประชาชน บทพิสูจน์ด่านแรกในการตีตั๋วไปต่อภาค 2

ใช้ “ศรัทธา” ประคองภาวะเสียงปริ่มน้ำก้ำกึ่ง ไม่ง้อพึ่งเสียง ส.ส.แต่ได้ใจเสียงประชาชน

นั่นต่างหากคือเสถียรภาพโดยแท้จริง.

ทีมการเมือง

อ่านข่าวล่าสุด เจาะลึกข้อมูลเลือกตั้ง 2562
https://www.thairath.co.th/election