เปลี่ยนแผนใหม่ให้ “ลุงตู่” นั่งเก้าอี้นายกฯ ก่อนแล้วค่อยไปเจรจาโควตากระทรวง ที่ผ่านมาผิดเหลี่ยมผิดกระบวนท่า เล่นเอาวุ่นไปหมด เมื่อได้เก้าอี้ใหญ่อำนาจต่อรองจึงมีมากขึ้น

ข่าว “เขย่าขวด” สุดสัปดาห์นี้แม้จะรู้สึกว่าการตั้งรัฐบาลดูจะล่าช้า วุ่นวายกันบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในกฎกติกา

ต้องเริ่มจากการตั้งประธานสภาผู้แทนฯ และรองอีก 2 คนอย่างเป็นทางการจึงจะเดินหน้าต่อไปเพื่อตั้งนายกฯ

จากนั้นจึงตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศต่อไป

ด้วยความไม่พร้อมนับแต่รัฐสภาแห่งใหม่ที่ยังไม่เสร็จเลยต้องหาสถานที่ประชุมชั่วคราว เพื่อรองรับจึงเป็นปัญหาที่เห็นๆกันอยู่

การประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนฯจึงเลือกที่ทีโอทีเป็นที่ประชุมแทนที่คับแคบ อุปกรณ์ไม่พร้อม

ทุกอย่างจึงฉุกละหุกไปหมด

แต่ที่เห็นปัญหาก็คือความไม่พร้อมด้วยประการทั้งปวง โดยขั้วพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล

ความไม่เป็นเอกภาพ การจัดลำดับความสำคัญไม่ชัดเจน

ประเด็นก็คือใครมีอำนาจที่แท้จริงในการเจรจาต่อรอง

แม้การแสดงตัวตนของพลังประชารัฐ ที่ให้หัวหน้าพรรค เลขาธิการเป็นตัวเปิด แต่ปรากฏว่ามีผู้จัดการรัฐบาล หรือผู้มีบารมีอยู่เบื้องหลัง

จึงเกิดปัญหาไม่รู้ว่าใครใหญ่จริง?

การเจรจาจึงมุ่งไปที่ผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะเชื่อว่าตัวจริงเสียงจริงมากกว่าคนในพรรคที่ทำหน้าที่อยู่เช่นกัน

สุดท้ายก็เลยเกิดปัญหาอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

การเลือกประธานสภาผู้แทนฯคือตัวอย่างที่ปรากฏ เนื่องจากประชาธิปัตย์ได้เจรจากับคนนอกที่ยกเก้าอี้ให้เพราะเชื่อว่าจะซื้อใจกันได้

ปรากฏว่าประชาธิปัตย์ที่ไม่ยอมมีท่าทีให้ชัดคือยังไม่มีมติอย่างเป็นทางการว่าจะเข้าร่วมกับพลังประชารัฐหรือไม่

...

“พลังประชารัฐ” จึงมีมติเสนอชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ”

แต่สุดท้ายประชาธิปัตย์ยืนยันจะเสนอชื่อ “ชวน หลีกภัย” เป็นประธานสภาผู้แทนฯ

เท่ากับว่ามาแข่งขันกันเองทำให้เกิดปรากฏการณ์เลื่อนวาระในที่ประชุมสภาฯ เล่นเอางงๆกันว่าเหตุไฉนจึงเป็นเช่นนี้เลยเกิดปัญหาเพราะมี 5 ส.ส.ยกมือหนุนอีกฝ่ายหนึ่ง

กว่าจะลงตัวกันได้เล่นเอาเหงื่อตก พรรคร่วมอื่นๆก็เลยปวดหัวไปด้วย

ว่าไปแล้วแนวคิดของพลังประชารัฐก็คือ ต้องการให้ทุกอย่างจบตั้งแต่เริ่มต้นยกแรกคือได้เสียง ส.ส.เกินครึ่งเพื่อราบรื่นตั้งแต่ต้น

คือรวบรวมเสียงให้ได้และเจรจาแบ่งโควตากระทรวงกันไปเลย

เมื่อติดขัดตั้งแต่แรกก็เลยเป็นผลตามมาในการเจรจาแบ่งกระทรวงสุดท้ายก็เลยต้องปล่อยผ่านไปก่อน เพื่อให้ลงมติเลือกนายกฯไปให้เรียบร้อยเสียก่อน

หรือการแบ่งกระทรวงก็มีปัญหา เพราะมีการตกลงกับผู้มีบารมีที่เชื่อว่าน่าจะจบ ปรากฏว่าทางพรรคไม่รู้เรื่องนี้

พอเจรจากันก็เลยเกิดปัญหา เพราะพรรคที่ได้ส่วนแบ่งนี้จึงเอามายืนยัน แต่ในพรรคแกนนำไม่รู้เรื่องด้วย

ทำให้ “บ้าน” แทบแตก...ว่างั้นเถอะ

สุดท้ายเลยต้องเปลี่ยนแผนคนในพรรคจึงขอจัดการกันเอง และจะให้นายกฯเข้ามาพิจารณารายชื่อเอง...ในฐานะผู้มีอำนาจเต็ม

ที่น่าสนใจอยู่อย่างก็คือ ความเป็น ไปได้ที่ “พี่ใหญ่” จะข้ามห้วยไปนั่งเก้าอี้ มท.1 แทน “น้องรอง”

ว่ากันว่า “3 ป.” โอเคเพื่อค้ำยันอำนาจให้ยืนยง!!!

“ลิขิต จงสกุล”

อ่านข่าวล่าสุด เจาะลึกข้อมูลเลือกตั้ง 2562
https://www.thairath.co.th/election