ย้อนรอยเหตุการณ์ทางการเมือง การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ช่วงเดือนเมษายน ปี 2553 จากแรกเร่ิมบริเวณราชดำเนิน สู่ราชประสงค์...
เหตุการณ์ทางการเมืองช่วงหนึ่ง คงต้องยอมรับถึงความเห็นต่าง ตามสถานการณ์เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงออกมารวมตัวชุมนุม เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 เรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดการเลือกตั้งใหม่ กระทั่งได้ขยายวงบานปลาย ต้องใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์
ทหารเข้ากดดันกลุ่มผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 2,100 คน
เหตุการณ์เริ่มทวีความรุนแรงเมื่อ "พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม" หรือก้อง หรือเสธ.เปา อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.21 รอ.) เสียชีวิตจากการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ที่แยกคอกวัว คืนวันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 โดยมีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณศีรษะและลำตัว ลักษณะถูกยิงหลายนัด พร้อมกับการปรากฏตัวของกลุ่มชายชุดดำ ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งนายฮิโระ มุระโมะโตะ สื่อมวลชนชาวญี่ปุ่นด้วย
ปูนบำเหน็จพิเศษให้เลื่อนชั้นเงินเดือน 9 ขั้น
หลังการเสียชีวิตแล้วร่มเกล้าได้รับการพระราชทานยศเป็น "พลเอก" และได้รับการปูนบำเหน็จพิเศษให้เลื่อนชั้นเงินเดือน 9 ขั้น พร้อมกับที่กองทัพบกได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ขั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.) ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงรับศพของพลเอกร่มเกล้าไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ในพิธีสวดพระอภิธรรม 7 วัน ที่วัดเทพศิรินทราวาส และเสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีการวางพวงมาลาและพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาศพได้ถูกเคลื่อนย้ายไปประกอบพิธีที่วัดเซนต์หลุยส์ กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะมีพิธีบรรจุศพซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2553 ที่สุสานศานติคาม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยมีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นประธานในพิธี
...

พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2509 เวลาประมาณ 21.00 น. เป็นบุตรคนที่สองของ รพีพงศ์ และวัชรี ธุวธรรม มีพี่สาวหนึ่งคน ชื่อ รัดเกล้า วิชญชาติ ชื่อเล่น ไก่ จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล, โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 (ตท.25), โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 (จปร.36), โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 76, รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และขณะที่เสียชีวิตก็กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์อยู่ด้วย
เริ่มรับราชการครั้งแรกที่ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดชลบุรี ในยศร้อยตรี (ร.ต.) เมื่อปี พ.ศ.2532 เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2548 เรื่อยมาจนกระทั่งได้รับยศ พันเอก (พ.อ.) ในปี พ.ศ.2552 โดยมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองเสนาธิการ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดปราจีนบุรี
บุตรชายเพียงคนเดียวของครอบครัว
พลเอกร่มเกล้า นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีชื่อทางศาสนาว่า "คริสโตเฟอร์" มีชื่อเล่นว่า "ก้อง" แต่เพื่อนๆ นายทหารนิยมเรียกว่า "เปา" ขณะที่เพื่อนๆ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จะนิยมเรียกว่า "ร่ม" ตามชื่อจริงพยางค์แรก ชีวิตครอบครัวสมรสกับนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม (นามสกุลเดิม หิรัญบูรณะ)
พล.อ.ร่มเกล้า เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของครอบครัว ในตอนแรกที่คลอด นายรพีพงศ์ บิดาจะให้ชื่อว่า "ร่มฉัตร" นอกจากนี้แล้วยังเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้ทั้งมือเปล่าและใช้อาวุธ ทั้ง คาราเต้, กระบี่กระบอง และมิกซ์มาเชียลอาร์ท มักจะสาธิตและฝึกสอนศิลปะการต่อสู้เหล่านี้ให้แก่ทหารใต้บังคับบัญชาเสมอๆ
เรื่องราวของ พล.อ.ร่มเกล้า ได้ถูกดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ในชื่อเรื่อง "ปาฏิหาริย์..รักไม่มีวันตาย" สร้างโดย เจเอสแอล ออกอากาศทางพีพีทีวี โดยมี พันโทวันชนะ สวัสดี เป็น พล.อ.ร่มเกล้า และสินจัย เปล่งพานิช เป็น นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ซึ่งเมื่อมีข่าวการจัดสร้างละครเรื่องดังกล่าวมีการนำไปบิดเบือนว่าละครเรื่องดังกล่าวเตรียมจะนำออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จนผู้บริหารของไทยพีบีเอสต้องออกมาชี้แจงว่าไทยพีบีเอสไม่มีนโยบายผลิตละครเรื่องนี้

ย้อนนาทีก่อนถูกยิง วันเดียวกันเสียชีวิต 24 ศพ ช่างภาพญี่ปุ่นเสียชีวิต
ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นภายหลัง พล.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิต กลุ่มผู้ชุมนุมปิดการจราจรที่แยกราชประสงค์ รวมทั้งสร้างแนวป้องกันในบริเวณโดยรอบ ทว่าย้อนไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน "นายอภิสิทธิ์" ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคนขึ้นไป กระทั่งในวันที่ 10 เมษายน กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 ศพ มีช่างภาพชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตรวมอยู่ด้วย 1 คน และทหารเสียชีวิต 5 นาย ตลอดจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 800 คน สื่อไทยเรียกการสลายการชุมนุมดังกล่าวว่า "เมษาโหด"
ช่วงค่ำของคืนวันเสาร์ที่ 10 เมษายน 2553 พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม นำกำลังทหารบัญชาการร่วมกับนายทหารท่านอื่นๆ พยายามเข้าควบคุมพื้นที่ ทว่ากระสุน M79 ไม่ทราบทิศทาง หมายยิงเข้าศีรษะ เล็งกระบอกปืนลั่นไกใส่ร่างทหารกล้าล้มลงเสียชีวิตคาที่ พร้อมนายทหารอีก 1 คนที่อยู่ภายในเต็นท์บัญชาการ สร้างความเศร้าสลดใจให้กับเพื่อนทหาร ขณะที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ก่อนที่กระสุน M79 จะพุ่งเข้าใส่ ได้มีแสงเลเซอร์สาดส่องมาตรงเป้าหมาย หลังจากนั้นเพียงวูบเดียวเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
เสธ.แดง ถูกยิง ต่อหน้าสื่อต่างชาติ
ต่อเนื่องกันไปตามสถานการณ์ มีการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ กระทั่งเมื่อวันที่ "13 พฤษภาคม พ.ศ.2553" ได้เกิดการลอบสังหาร นายขัตติยะ สวัสดิผล ด้วยอาวุธปืนสไนเปอร์แรงสูง ขณะที่ขัตติยะ สวัสดิผลกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ บริเวณแยกศาลาแดง ภายหลังปฏิบัติการกระชับพื้นที่ของรัฐบาล หลังจากนั้น พล.ต.ขัตติยะ ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียวและโรงพยาบาลวชิรพยาบาลตามลำดับ อย่างไรก็ตาม พล.ต.ขัตติยะ ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2553 ภายหลังเสธ.แดงถูกยิง ม็อบเสื้อแดงอ่อนกำลังลง ฝ่ายทหารสามารถกระชับพื้นที่ได้รวดเร็วขึ้น

19 พ.ค. 2553 สลายการชุมนุม
แม้จะมีความพยายามในการเจรจา โดยมีวุฒิสมาชิกบางส่วนเป็นสื่อกลาง และแกนนำ นปช. ยินยอมที่จะเจรจากับรัฐบาลโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ก็ยังเกิดการสลายการชุมนุม ตามข่าวที่รับรู้กันในหมู่ผู้ชุมนุม ตั้งแต่คืนวันที่ 18 พฤษภาคม โดยกองทัพทำยุทธการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุม ก่อนจะเริ่มการโจมตีอย่างเต็มรูปแบบ เริ่มจากใช้รถหุ้มเกราะเข้าทำลายสิ่งกีดขวาง ซึ่งผู้ชุมนุมสร้างขึ้นจากไม้ไผ่ ซึ่งตามคำแถลงของ พลโท ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหาร (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) แถลงถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น. เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงมีหน่วยแทรกซึมของทหาร เข้ามาตัดสายลำโพงซึ่งขยายเสียงจากเวทีชุมนุม
เวลาประมาณ 10.00 น. มีผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ ประมาณ 10 ราย ส่วนมากบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากถูกกระสุนปืนเข้าที่อวัยวะสำคัญ การ์ด นปช.เริ่มระดมยางรถยนต์ไปเสริมเป็นบังเกอร์
เวลาประมาณ 11.00 น. ผู้ชุมนุมพบเห็นกำลังทหารเคลื่อนพลอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่งผลให้เกิดความแตกตื่น ผู้สื่อข่าวต่างหลบกันอลหม่าน การ์ดเข้าคุ้มกันแกนนำ นปช.พร้อมทั้งนำตัวออกจากเต็นท์หลังเวทีโดยทันที
หลังจากกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่โดยรอบสวนลุมพินีไว้ได้ จากการเข้าตรวจที่เกิดเหตุโดยรอบ พบผู้เสียชีวิตเป็นชาย 2 ศพถูกยิงเข้าบริเวณศีรษะ อยู่ด้านหลังแนวบังเกอร์ฝั่งถนนราชดำริ บริเวณตรงข้ามตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งกำลังทหารทลายเข้ามาสำเร็จ

เซ็นทรัลเวิลด์ ถูกเผา
ที่เซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์ เกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งมีการซัดทอดว่า “ชายชุดดำ” และกองกำลังไม่ทราบฝ่าย บุกเข้าไปวางเพลิง ขณะที่ “นายไพรวรรณ รุนนอก” หัวหน้า รปภ.ประจำโซนเซ็นทรัลเวิลด์ ชาวโคราช วัย 45 ปี เล่าถึงนาทีชีวิตเสี่ยงตายเมื่อต้องประจันหน้าแบบมือเปล่ากับผู้ก่อจลาจลใน “ชุดดำ” ที่มีปืนอาก้า 47 เป็นอาวุธ ซึ่งกำลังพยายามจะเข้าไปวางเพลิงอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ สภาพอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ฝั่งห้างสรรพสินค้าเซนเว้าแหว่งเป็นแอ่งกระทะ กลายเป็นภาพสะเทือนใจใครหลายคนที่มีโอกาสเข้าไปพบเห็น จากนั้นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายต่อไป.

