ภาพลักษณ์ขององค์กรที่จะส่งผลต่อ ความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป สร้างความรู้สึกที่ดีต่อสังคม ย่อมเป็นแนวทางใน การบริหารขององค์กรในระดับสากล ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและยกระดับ ภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI ของประเทศให้สูงขึ้นอีกด้วย
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ในการป้องกันการทุจริตและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ แถลงถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีความโปร่งใสได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมการบริหารจัดการด้วย หลักธรรมาภิบาล มีจรรยาบรรณทางการค้าและรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
ได้มีการริเริ่มมอบรางวัล องค์กรโปร่งใส หรือ NACC มาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ได้อธิบายว่า การมอบรางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ผ่านมาเป็นครั้งที่ 8 มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใสด้วยกัน 6 องค์กร และรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใสอีก 21 องค์กร ถือว่าเป็นการบริหารจัดการองค์กรให้เป็นที่ยอมรับ โปร่งใส ตรวจสอบได้
ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการจำนวนมาก และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วน มีองค์กรที่ได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ ปตท. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไทยออยล์ รวมทั้ง ไออาร์พีซี และ พีทีที โกลบอล เคมิคอล ที่ได้รับรางวัลชมเชยในครั้งนี้ด้วย
ความสำเร็จดังกล่าว ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ความสำเร็จของกลุ่ม ปตท.ในการได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส เป็นการพิสูจน์ว่า กลุ่ม ปตท. มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้
...
เน้นย้ำแนวทางการทำงานที่ดีให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ชุดค่านิยมความคิดที่ให้ความสำคัญทั้งกับ การสร้างคนเก่งและไม่ลืมที่จะสร้างคนดี ไปพร้อมๆกัน ปตท.ได้จัดตั้งสายงานกำกับดูแลองค์กรที่บูรณาการ งานธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเข้าด้วยกัน
เป็น ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ของ ปตท.ตามแนวทางที่รัฐกำหนด มีการพัฒนากระบวนการดำเนินงานในเชิงรุก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้การดำเนินธุรกิจ โดยกำหนดนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมาจัดทำเป็นคู่มือให้คณะกรรมการบริหารและพนักงานของ ปตท.ทุกคนได้รับมาปฏิบัติเสมือนวินัยขององค์กร
การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในคือการจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้บรรลุวัตถุประสงค์การกำกับกิจการที่ดี รักษามาตรฐานความโปร่งใส จริยธรรม คุณธรรม ตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th