สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ “ส.ศิวรักษ์” วัย 87 ปี นักคิด นักเขียน ฝีปากกล้า ที่ “อุ๊ หฤทัย” ด่าว่าเป็นเฒ่าเจ้าเล่ห์ และมากด้วยวีรกรรม ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงเรื่องราวชีวิตของ “ส.ศิวรักษ์” ผู้ที่มีบทบาททางความคิดโดดเด่นในสังคมไทยมานานกว่า 5 ทศวรรษ...
เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่อปี 2495
จากนั้น เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จากวิทยาลัยเซนต์เดวิด เมื่อปี 2500
...
ส.ศิวรักษ์ เคยกล่าวกับสื่อถึงช่วงที่เจ้าตัวกลับมาเมืองไทยหลังเรียนจบ ว่า “ตอนผมกลับจากเมืองนอก มีคนทำงานของนายกฯ มาชวนผมไปทำงานด้วย ผมคงเชี่ยเหมือนกัน ผมรู้ ตัวผมเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องปิดโอกาสไม่ให้มักใหญ่ใฝ่สูง ผมเลยไม่รับ”
เมื่อนักข่าวถามต่อว่า ถ้าวันนั้นไม่ปิดโอกาส ตอนนี้อาจได้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีก็ได้ ส.ศิวรักษ์ ตอบว่า “ก็คงเชี่ยเหมือนนายกฯ ทั้งหลายนะ ใช่ไหม ผมรู้ว่าผมไม่ใช่คนดี เลยต้องปิดโอกาสไม่ให้ความชั่วเกิด” (อ้างอิงจาก ผู้จัดการรายวัน. (2553) ส.ศิวรักษ์ มุมเบาๆ ของ ส.ศิวยิ้ม)
ต้นปี 2505 ส.ศิวรักษ์ เดินทางกลับเมืองไทย เข้าทำงานในแผนกข่าวของสถานทูตอังกฤษและสหรัฐฯ อยู่ระยะหนึ่ง ขณะนั้น เป็นยุครัฐบาลเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเทศถูกเบนหัวให้ไปสู่ระบบทุนนิยม อันเป็นกระแสของความทันสมัยอย่างขนานใหญ่
โดยเหล่าปัญญาชนหัวก้าวหน้าในขณะนั้น ถูกปราบปรามจับกุมกระแสการต่อต้านอำนาจรัฐ การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ในสังคมไทย จึงค่อนข้างเงียบสงบ บางคนเรียกยุคนั้นว่า “ยุคมืดบอดแห่งปัญญา”
ฉะนั้น บทบาทที่โดดเด่นที่สุดของ ส.ศิวรักษ์ ในยุคนั้นคือ การพูดการเขียน เขาเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์สังคมฝีปากกล้า โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เคยออกปากถึงงานเขียนของ ส.ศิวรักษ์ ว่า “ขวานผ่าซาก” และเป็นบรรณาธิการ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูขีดสุด เพราะได้รวบรวมเอานักคิด นักเขียนของเมืองไทย แหกกรอบความคิดแบบเดิมๆ อันเป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ในแง่แนวคิดเชิงอนุรักษ์ ส.ศิวรักษ์ ไม่ได้แตกต่างไปจากปัญญาชนสมัยนั้นแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นคนกล้าแสดงออก กล้าวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคนอื่น ทำให้สังคมรู้จักเขามากขึ้น
และเขายังเป็นฝ่าย “ก้าวหน้า” ที่ “รักเจ้า” อย่างเปิดเผย แต่กลับวนเวียนอยู่กับข้อกล่าวหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่ฝ่ายรัฐบาลในยุคเก่าๆ หยิบยื่นมาให้ โดยเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2510
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2527 อัยการสั่งไม่ฟ้อง, ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2534 ขณะไปปาฐกถา “6 เดือน รสช. โศกนาฏกรรมสังคมไทย ความถดถอยของประชาธิปไตย” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเนื้อหาปาฐกถาเป็นไปตามแบบฉบับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จนถูก พล.อ.สุจินดา คราประยูร ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและพ่วงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าไปด้วย
เวลานั้นปี 2534 ส.ศิวรักษ์ ต้องเดินทางลี้ภัยไปต่างประเทศอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะเข้ามอบตัวเพื่อสู้คดีอีกครั้งใน 2 ปีถัดมา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2536 (อ้างอิงจาก ข่าวสด. (2538) ส.ศิวรักษ์ นักคิด ปัญญาชน-รักเจ้า เหยื่อคดีหมิ่นฯ ตลอดกาล รัฐบาลหยิบยื่นให้)
ส.ศิวรักษ์ ดูจะเป็นคนแรกที่สร้างวาทกรรมเกี่ยวกับ “ปัญญาชน” ในสังคมไทย โดยวงวิชาการทั้งไทยและเทศต่างยอมรับในความเป็นปัญญาชนของ ส.ศิวรักษ์ อย่างกว้างขวาง ดังที่เคยมีผู้ศึกษาปัญญาชนไทยอย่างเป็นระบบตั้งแต่อดีตไว้ และได้จัด ส.ศิวรักษ์ เป็นปัญญาชนสยามคนที่ 10 และเป็นคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ส.ศิวรักษ์ ยังคงทำงานด้านเขียนหนังสือ และยังคงสะพรั่งบานในการอ่าน แม้จะอยู่ในวัยแปดสิบกว่า อีกทั้งยังเดินทางไปบรรยายในที่ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อสังคมไทยอย่างมาก ทั้งในด้านงานประยุกต์ศาสนา การศึกษาทางเลือก และการเมืองภาคประชาชน
ครั้งหนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียนชื่อดังในปัจจุบัน และเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวไทย เคยกล่าวถึง ส.ศิวรักษ์ ว่า “ไม่ค่อยสบายใจเท่าไรนักที่ต้องมาพูดถึง ส.ศิวรักษ์ ต่อหน้าคุณสุลักษณ์...ส.ศิวรักษ์ ยังคงเป็นปัญญาชนนอกระบบที่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีครั้งใดที่เขาจะถูกขจัดออกไปจากสังคมไทยได้เลย”...