สูตรคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ อาจมีผลกระทบร้อนแรงทางการเมือง หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสินใจผิดพลาด ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ระบุว่า การคำนวณต้องชัดตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายการเลือกตั้ง ไม่อาจกระทำได้ตามอำเภอใจ และเรียกร้อง กกต.ให้เปิดเผยผลคะแนน และชี้แจงวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป วิธีการคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน ให้นำคะแนนเสียงประชาชนทั้งหมด ประมาณ 35.5 ล้านเสียง มาหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน ได้คะแนนเฉลี่ย ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 71,065 คะแนนต่อ 1 คน พรรคที่ได้เท่านี้ จะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน พรรคที่ได้ต่ำกว่านั้นสอบตกยกพรรค

แต่มีรายงานข่าวระบุว่ามีพรรคเล็กหลายพรรคที่ได้แค่ 3 หมื่นเศษ จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน ทำให้จำนวนพรรคที่คาดว่าจะได้ ส.ส.เข้าสภาทั้งหมด 16 พรรค พุ่งพรวดขึ้นเป็น 27 พรรค เกิดความงุนงงสงสัยเป็นไปได้อย่างไร มีคำชี้แจงจากรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ว่าคนไม่เข้าใจว่าการเลือกตั้งบัตรเดียว ต้องหาร 3 รอบ พรรคที่ได้ 3 หมื่นจึงได้ ส.ส.

เกี่ยวกับปัญหานี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการ กกต. ได้โพสต์ข้อความระบุว่า วิธีการคำนวณตาม ม.128 ของกฎหมายเลือกตั้ง อ่านแล้วไม่สามารถเข้าใจได้ง่าย อาจตีความหมายนำไปสู่วิธีการคำนวณที่ต่างกัน และทำให้เกิดผลที่ต่างกันอย่างน้อย 2 แบบ แบบแรกทำให้ 11 พรรคเล็กที่ได้คะแนน ตั้งแต่ 33,784 ถึง 69,417 เสียง ได้ ส.ส.แบบบัญชีพรรคละ 1 ที่นั่ง

ทั้งที่ได้คะแนนเสียงต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ย คือ 71,065 เสียง ทำไมพรรคเล็กที่ได้แค่ 3 หมื่นกว่าคะแนน จึงได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ส่วนพรรคใหญ่และพรรคขนาดกลางต้องได้กว่า 7 หมื่นคะแนน จึงจะได้ 1 ที่นั่ง นายสมชัยเตือน กกต.ว่า ปัญหานี้เป็น “จุดตาย” ของ กกต. หากพิสูจน์ได้ว่ามีการเอื้อให้พรรคใดหรือไม่ เคยมี กกต.ติดคุกจากการทำผิดข้อหานี้

...

ส่วนการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแบบที่ 2 ยึดหลักว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงประชาชน 71,065 คะแนนขึ้นไป ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง วิธีนี้จะทำให้ 11 พรรคเล็กไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่พรรคใหญ่และพรรคขนาดกลางจะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น การตัดสินใจจะใช้วิธีใดเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะต้องใช้ความซื่อสัตย์สุจริต และความกล้าหาญตัดสินบนความถูกต้อง

สาเหตุสำคัญของปัญหาเป็นผลสืบเนื่องจากอภินิหารของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ตีความได้หลากหลาย และการเลือกตั้งแบบบัตรเดียวยังทำให้เกิดระบบ “หางกินหัว” บางพรรคได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมากที่สุด แต่ไม่ได้ ส.ส.แบบบัญชีแม้แต่คนเดียว กลายเป็นพรรคที่ขาดระดับผู้นำพรรค เหลือแต่ส่วนกลางตัวและส่วนหาง ไม่ทราบว่าเป็นเจตนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่.